ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ และวิทยาลัยการสาธารณสุขบลูมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาลงในวารสารวิทยาศาสตร์ ‘ไซแอนซ์’ ฉบับล่าสุด เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการสร้างใหม่ของเซลล์ โดยเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเตมเซลล์ จะทำการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่ย่อยสลายไปตามอายุ และในการแบ่งตัวของเซลล์แต่ละครั้ง จะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้นของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์
อัตราการแบ่งตัวของเซลล์เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ทั่วร่างกายแตกต่างกันไป โดยในส่วนระบบทางเดินอาหาร กระบวนการจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่เซลล์สมองจะเป็นไปอย่างช้าๆ ทีมนักวิจัยศึกษาโดยการเปรียบเทียบอัตราการแบ่งตัวของเซลล์เนื้อเยื่อ 31 ประเภทในร่างกายที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิต กับความเป็นไปได้ในการเกิดมะเร็งของเนื้อเยื่อนั้น ปรากฏว่าการเกิดมะเร็งประเภทต่างๆ ราว 2 ใน 3 เชื่อมโยงกับการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติของร่างกายที่ไม่สามารถป้องกันได้ ในจำนวนนี้รวมถึงมะเร็งสมอง มะเร็งลำไส้เล็ก และมะเร็งตับอ่อนด้วย ขณะที่มะเร็งที่พบมากอย่างมะเร็งทรวงอกและมะเร็งต่อมลูกหมาก ไม่ได้รวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่พบว่ามีรูปแบบของการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์อย่างต่อเนื่องเช่นเซลล์อื่นๆ
แม้ 2 ใน 3 ของมะเร็งจะเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ยังมีอีกราว 1 ใน 3 ที่เป็นผลโดยตรงมาจากตัวแปรต่างๆ ที่เกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิต ไวรัส และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในส่วนนี้รวมถึง มะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์ (บีซีซี) ที่เกิดจากการได้รับรังสียูวีมากเกินไป มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่เกิดจากรูปแบบการรับประทานอาหาร และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมะเร็งปอด ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากควันบุหรี่ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งราว 1 ใน 5 ทั่วโลก
สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้น ของสถาบันวิจัยมะเร็งในอังกฤษ โดย ดร.เอมมา สมิธ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อาวุโสของสถาบัน กล่าวว่า เกินกว่า 4 ใน 10 ชนิดของมะเร็ง สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่เหมาะสม รวมถึงการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแม้ว่าการดำเนินชีวิตตามรูปแบบนี้ จะไม่ใช่เครื่องรับประกันว่าจะไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่อย่างน้อยก็ช่วยความเสี่ยงของโรคที่จะเกิดขึ้นได้
คริสเตียน โทมาเซตติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาเนื้องอก หนึ่งในคณะนักวิจัยชุดนี้ กล่าวว่า จากการศึกษาเห็นได้ว่า สาเหตุของมะเร็งมีทั้งที่เกิดจากการเลือกใช้ชีวิตของเรา และกระบวนการทำงานปกติของร่างกาย ดังนั้น การมุ่งเน้นไปที่การป้องกันอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง แต่ควรให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัย เพื่อหาทางที่จะสามารถตรวจพบโรคได้อย่างทันท่วงที อย่างที่กล่าวว่า ‘การตรวจพบเร็วเป็นทางเลือกเดียวของโรคนี้’ ขณะที่ ดร.สมิธ กล่าวว่า จริงอยู่ว่าการพัฒนากระบวนการตรวจหาโรคและปรับปรุงกระบวนการรักษาเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีการที่จะลดความเสี่ยงการเกิดโรคด้วยตนเองในขั้นต้น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน