นายวาสิลี โบโกยาฟเลนสกี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยก๊าซและน้ำมัน จากราชบัณฑิตวิทยสถานแห่งรัสเซีย เผยการค้นพบหลุมยุบขนาดยักษ์แห่งใหม่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร ในสาธารณรัฐซาฮา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งนับเป็นหลุมยุบยักษ์แห่งที่ 7 เท่าที่มีการรายงาน ขณะที่ทั้ง 6 แห่งก่อนหน้านี้ล้วนอยู่ในแคว้นยามาโล-เนเนตสกี ในเขตไซบีเรียทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญเตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบหลุมยุบแห่งใหม่ ว่ามีลักษณะการเกิดเช่นเดียวกับอีก 6 จุดหรือไม่
นอกจาก 7 แห่งนี้แล้ว นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามีอีกจำนวนมากที่ยังไม่ถูกค้นพบ เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ห่างไกลไม่มีผู้คนอาศัย โดยการค้นพบเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว ทำให้เกิดการคาดเดาทฤษฎีการเกิดกันไปต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นอุกกาบาตถล่มหรือแม้แต่ฝีมือมนุษย์ต่างดาว แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลกที่เพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งใต้ดินที่อยู่ในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวละลาย ปลดปล่อยก๊าซมีเทนออกมา จนนำไปสู่การระเบิดกลายเป็นหลุมขนาดยักษ์ โดยในบรรดาหลุมที่คาดว่าอยู่นอกเหนือการสำรวจ คือหลุมที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว อาจจะราวหลายพันปีก่อนหน้านี้ และใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี แปรสภาพกลายเป็นแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำการศึกษาวิเคราะห์.