นายกสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม พร้อมผู้บริหารระดับสูง เข้าพบท่านจุฬาราชมนตรี หลังได้รับอนุญาติจัดตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการ เพื่อขอคำนะซีฮัต และปัญหาผู้ประกอบการมุสลิมเข้าไม่ถึงฮาลาล แนะปลดล็อกระเบียบ และค่าธรรม หนุนผู้ผลิตสินค้ามุสลิม
เมื่อวันพุธ (10) นายอดุลย์ วงศ์เสงี่ยม(มูซา) นายกสมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม พร้อมด้วย นายมานพ มานน้อย(ซำวีน) รองนายกฯ คนที่ 1 และ นายอรุณ เลิศธานนท์(ฮารูน) รองนายกคนที่ 2 ได้เดินทางเข้าพบท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อขอการนะซีฮัตในวาระที่ได้จัดตั้งสมาคมเพื่อรวบรวม ช่วยเหลือ สนับสนุนผู้ประกอบการมุสลิม โดยได้แนะนำองค์กร และคณะผู้บริหาร
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีกล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่มีคนคิดจัดตั้งสมาคมนี้ขึ้นมา เป็นเรื่องดีอย่างมากที่คิดเอาการค้ามาใช้เป็นประโยชน์กับมุสลิม เพราะปกติการค้ามากกว่า 90% ไม่ใช่มุสลิมที่ดำเนินการ”
“อยากให้สมาคมพยายามติดต่อทำการค้ากับโลกอาหรับให้ได้ เพราะคนอาหรับไม่ได้ผลิตสินค้าเอง จะซื้อจากต่างประเทศซะส่วนใหญ่ เช่น เสื้อผ้า , อาหารและผลไม้ต่างๆ อีกมากมายที่สั่งซื้อจากต่างประเทศทั้งสิ้น”จุฬาราชมนตรีกล่าว
พร้อมแนะนำว่า “การรวมตัวกันของสมาคมฯ พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาคีลาฟียะห์(ปัญหาขัดแย้งทางด้านศาสนา) เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต ให้มองไปข้างหน้าแล้วพยายามผลักดันให้ธุรกิจของมุสลิมได้เติบโตเทียบเท่าสากลได้ในที่สุด”
พร้อมกันนี้ นายอดุลย์ วงศ์เสงี่ยม นายกสมาคมฯ ยังได้หารือในประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการด้านฮาลาลที่เป็นของมุสลิม แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการรับรองฮาลาลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ โดยได้เสนอความร่วมมือในการตั้งคณะทำงานของสมาคมฯ เพื่อมาช่วยในการประสานงานกับสมาชิกผู้ประการรายย่อยในการขอร้บรองมาตรฐานฮาลาล โดยขอให้มีการผ่อนปรนทั้งในระเบียบการขอฮาลาลและค่าธรรมเนียม เพื่อเอื้อต่อการดำเนินกิจการของมุสลิมที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ และเป็นการผลักดันธุรกิจในรูปแบบของอิสลามให้เป็นที่รู้จักของสังคมให้กว้างขวางต่อไป
จากนั้นจุฬาราชมนตรีได้กล่าวปิดท้ายเป็นการขอดุอาอฺให้กับสมาคมว่า “ขอต่ออัลเลาะฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงโปรดให้สมาคมฯ ดำเนินการต่อไปอย่างเหนียวแน่นและราบรื่นตลอดไป หากสมาคมฯ มีอะไรให้สำนักจุฬาช่วยเหลือก็ให้บอกมา และถ้ามีอะไรที่สำนักจุฬาจะช่วยสมาคมได้ก็จะแจ้งให้ทางสมาคมฯ รับทราบต่อไป”