เน้นลูกค้ามุสลิม ต่างชาติสนใจร่วมทุนธนาคารอิสลาม

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ พร้อมเตรียมสรุปแนวทางการหาพันธมิตรรวมทุนกับสถาบันการเงินต่างชาติ ภายใน 6 เดือน

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ เปิดเผยความคืบหน้าแผนฟื้นฟูธนาคาร ว่าหลังจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด มีมติให้ไอแบงก์ ศึกษาแผนปฏิรูปธนาคาร เน้นการปล่อยสินเชื่อมุสลิม และศึกษาแนวทางการจัดตั้ง AMC เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ พร้อมจัดทำแผนหาพันธมิตร ล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อหาแนวทางนำผู้ร่วมลงทุนต่างชาติร่วมลงทุนกับไอแบงค์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า ตามหลักชะรีอะห์ สำหรับลูกค้ามุสลิม และลูกค้าทั่วไปที่ทำธุรกิจกับกลุ่มชาวมุสลิม รวมถึงเป็นธนาคารทางเลือกของลูกค้าทั่วไป คาดว่าจะสรุปข้อเสนอการร่วมทุนได้ภายใน 6 เดือน ขณะนี้มีสถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่ง แสดงความสนใจเข้าร่วมทุน ในสัดส่วนร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 75 เพื่อผลักดันให้ไอแบงก์ ขยายการทำธุรกิจไปต่างประเทศได้เหมือนธนาคารอิสลามชั้นนำอื่น อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปแนวทาง รูปแบบการร่วมทุนทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของซุปเปอร์บอร์ด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

ส่วนสภาพคล่องของธนาคารยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีเงินฝากรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ปัจจุบันลดลงเหลือร้อยละ 47 คิดเป็นมูลค่า 48,292 ล้านบาท จากช่วงต้นปีที่มีกว่า 55,000 ล้านบาท และคาดว่าจะลดลงอีก 22,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ จากการปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยการปล่อยสินเชื่อหลังจากนี้ จะเน้นกลุ่มลูกค้าชาวมุสลิมเท่านั้น

ความคิดเห็น

comments