US TIP Report เครื่องมือคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่แท้จริงหรือแค่กลลวง?

US TIP Report นี้จัดทำขึ้นเพื่ออะไร มุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง หรือมีนัยสำคัญที่ซ้อนอยู่เพื่อที่จะได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของประเทศมหาอำนาจที่จะเอาไว้ใช้ในการอ้างสิทธิเพื่อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

จากการที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศผลการจัดลำดับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการในการต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี 2015 ไป โดยยังให้ไทยคงอยู่ใน Tier 3 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ในขณะที่มีการปรับขึ้นของหลายประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผมในฐานะที่เป็นนักเรียนกฎหมายระหว่างประเทศระดับปริญญาเอก อยากที่จะมาคิดวิเคราะห์เล่นๆ ดูว่า แท้ที่จริงแล้ว การจัดทำรายงานและการจัดลำดับของสหรัฐอเมริกานั้นมีเบื้องลึก เบื้องหลัง และส่งผลกระทบอะไรตามมาบ้าง

เริ่มจากผลก่อนก็ละกันครับ กรณีที่ไทยถูกจัดให้อยู่ใน Tier 3 อาจส่งผลให้มีการสนับสนุนให้เกิดการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้ามนุษย์ เช่นสินค้าประมงที่มีการใช้แรงงานที่เป็น force labour ประเด็นนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงคดีต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกาเคยยกขึ้นอ้างเพื่อกีดกันสินค้าจากประเทศต่างๆ

จากนโยบายโลกการค้าเสรียุคใหม่ทำให้ภาษีศุลกากรไม่ถือเป็นอุปสรรคหลักในการค้าระหว่างประเทศเช่นที่เป็นมาในอดีต ต่อมา Non-Tariff Barriers (NTB) หรือที่เรียกว่า อุปสรรคทางการค้าชนิดที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรก็ถูกสร้างขึ้นมาในหลายรูปแบบที่ต่างเหตุผลกัน ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาเคยกีดกันสิ่งทอจากประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในเอเชียโดยให้เหตุผลว่า โรงงานผลิตสิ่งทอจากประเทศดังกล่าวใช้แรงงานซึ่งเป็นเด็กไม่เกินอายุ 15 ปี ซึ่งไม่เป็นไปตามสิทธิในการคุ้มครองเด็กและมาตรฐานแรงงานที่กำหนดโดย International Labour Organization (ILO) ข้ออ้างดังกล่าวฟังดูสมเหตุสมผลในมุมของการคุ้มครองสิทธิเด็ก ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถกีดกันสินค้าดังกล่าวได้ และทำให้อุตหกรรมสิ่งทอของสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าน้อยลง แต่หากมองจากสวัสดิการที่รัฐในประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถจัดการศึกษาให้กับเด็กได้แค่ถึงอายุประมาณ 12 ปีเท่านั้น ทำให้เด็กอายุกว่า 13 แต่ไม่เกิน 15 ปีที่เข้าสู่ตลาดแรงงานตามข้อจำกัดของประเทศ กลับถูกหยิบยกขึ้นเป็นข้อกีดกันสินค้าในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้

ประเทศไทยเองก็เคยมีประเด็นที่สหรัฐอเมริกาหยิบยก NTB เรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม มากีดกันสินค้ากุ้งจากประเทศไทย หลายท่านคงยังพอที่จะจำกันได้ คดีในสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลในการกีดกันว่า เพราะเรือประมงไทยที่จับกุ้งดังกล่าวไม่มีการติดเครื่อง TEDs ซึ่งคือเครื่องตรวจเต่าทะเล อันส่งผลให้เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม โชคดีที่คดีนี้ประเทศไทยของเราชนะในประเด็นที่สหรัฐกล่าวอ้าง โดยในการพิจารณาข้อพิพาทใน WTO องค์การการค้าโลก ไทยได้แสดงหลักฐานว่ากุ้งที่สหรัฐอเมริกากีดกันกับเต่าทะเลที่อ้างว่าจะคุ้มครองนั้น มันหากินในทะเลคนละพื้นที่กัน ทำให้คดีนี้สหรัฐอเมริกาหน้าแตกและแพ้คดีไป อันนี้เป็นตัวอย่างกรณีที่จับได้ไล่ทัน

จากตัวอย่างข้างต้นจะทำให้เห็นว่า การอ้างเรื่อง สิทธิมนุษยชนก็ดี สิ่งแวดล้อมก็ดี ที่มีการยกขึ้นนั้น เกิดด้วยเหตุที่มุ่งที่จะคุ้มครองสิ่งต่างๆ ดังกล่าวอย่างแท้จริง หรือเพียงแค่ถูกยกขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของประเทศผู้อ้างเท่านั้น

US TIP Report ถือเป็นเครื่องมือชนิดใหม่ที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้นเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยอเมริกาใช้มาตรฐานของตัวเองเป็นผู้กำหนดว่าการดำเนินการว่า ระดับไหนควรอยู่ลำดับหรือ Tier ที่เท่าไหร่ แต่พอมาดูการปรับลำดับ Tier ของหลายประเทศก็ทำให้เกิดข้อกังขาถึงมาตรฐานที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ เช่น ใต้หวันเคยอยู่ Tier 2 มาหลายปี แต่หลังจากมีการเจรจาซื้อเครื่องบินรบกับสหรัฐอเมริกาก็ได้เลื่อนขึ้นมาอยู่ Tier 1 ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา หรือกรณีประเทศมาเลเซียที่เมื่อปีที่แล้วอยู่ Tier 3 เหมือนไทย แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกามาเจรจาเรื่องโรฮีนจา ปีนี้ก็ได้มีการปรับขึ้นมาอยู่ Tier 2 Watch List เลย

ส่วนไทยจากแต่เดิมที่เคยอยู่ใน Tier 2 ก็ถูกลดมาอยู่ Tier 2 WL ตั้งแต่ปี 2010-2013 และมาปรับลดเป็น Tier 3 ตั้งแต่ปี 2014 เป็นไปได้หรือว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยไม่ทำอะไรเลย ไม่มีความพยายามในการพัฒนามาตรการทางกฎหมาย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเลย ถึงได้แย่ลงๆ ตลอดดั่งที่ปรากฏในรายงานที่ได้มีการปรับลด Tier มาอย่างต่อเนื่อง ผมว่ามาตรฐานในการพิจารณาจัดลำดับประเทศควรมุ่งเน้นที่เรื่องเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เป็นหลัก แต่ดูเหมือนสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นการที่ไทยมีรัฐบาลทหาร หรือแม้แต่กรณีอุยกูร์ ซึ่งเป็นเรื่องผู้ลี้ภัยไม่ใช่การค้ามนุษย์ก็ดูเหมือนจะถูกนำมาพิจารณารวมด้วย

ดังนั้นเมื่อมองมาตรฐานในการจัดลำดับใน US TIP Report นี้แล้ว ผมในฐานะนักเรียนคนหนึ่งเลยอยากตั้งข้อสังเกตว่า เหมาะสมแล้วหรือที่เราต้องวิ่งตามมาตรฐานที่สหรัฐอเมริการเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง ซึ่งก็ยังดูไม่ค่อยจะมีมาตรฐานซักเท่าไหร่ อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ US TIP Report ฉบับนี้ก็ไม่ใช่รายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติแต่อย่างใด และหากมีการเรียกผู้แทนไทยไปชี้แจงในเวทีสหประชาชาติ ผมเชื่อว่าไทยเรามีข้อมูลเพียงพอที่จะชี้แจงให้เห็นถึงการพัฒนาการเครื่องมือทางกฎหมาย หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ร่วมไปถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของไทยในประเด็นการต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อให้ชาวโลกได้ทราบ

ที่เขียนมาทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกตของนักเรียนกฎหมายระหว่างประเทศที่อยากให้ทบทวนกันเท่านั้นครับว่า US TIP Report นี้จัดทำขึ้นเพื่ออะไร มุ่งที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง หรือมีนัยสำคัญที่ซ้อนอยู่เพื่อที่จะได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของประเทศมหาอำนาจที่จะเอาไว้ใช้ในการอ้างสิทธิเพื่อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยทำให้การกล่าวอ้างนั้นมีเหตุผลเพียงพอที่จะสนับสนุนให้กระทำการกีดกันสินค้าประเภทนั้นๆ ได้ โดยเฉพาะการจัดลำดับที่มีการวางมาตรฐานขึ้นเอง และเป็นผู้จัดลำดับประเทศต่างๆ เองแบบนี้ ถือว่ามีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะฉะนั้นขอให้ดูดีๆ เถอะครับ เพราะผมไม่อยากให้เราใส่ใจกับผลของรายงานแบบนี้ให้มันมากนัก ถ้ามันเป็นเพียงแค่ “กลลวง” ที่ถูกสร้างขึ้นมาในเวทีระหว่างประเทศเพียงเพื่อใช้ในการแสวงประโยชน์จากประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

เขียนโดย มาร์ค เจริญวงศ์ สำนักข่าวอิศรา

ความคิดเห็น

comments