วิกฤตคลื่นผู้ลี้ภัยจากซีเรียหนีเข้าสู่ยุโรปเริ่มทำให้ประชาชนในเยอรมันเริ่มประสบปัญหาการใช้ชีวิตเมื่อ กาเบรียล เคลเลอร์ (Gabrielle Keller) วัย 56 ปี ได้รับคำสั่งให้ย้ายออกจากแฟลตในเมือง Eschbach ทางใต้ ที่อาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 23 ปี เพื่อเปิดทางให้เมืองนำแฟลตแห่งนี้เตรียมให้ผู้อพยพอาศัยซึ่งขณะนี้รัฐบาลเยอรมนีประสบปัญหาหาพื้นที่ให้ผู้อพยพซีเรียอยู่ ทำให้มีการก่อเหตุวิวาทระหว่างผู้อพยพในศูนย์ลี้ภัยที่เมือง Hamburg-Bergedorf ในวันพฤหัสบดี (1) และก่อนหน้านั้นในเมือง Kassel ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 14 ราย ล่าสุดบีบีซีรายงาน ฮัมบูร์กเป็นเมืองแรกในเยอรมนีที่ออกกฎหมายอนุญาตให้สามารถยึดตึกร้างเอกชนเพื่อเปลี่ยนเป็นศูนย์ลี้ภัยได้
บีบีซี สื่ออังฤษรายงานเมื่อวานนี้ (2) ว่า ฮัมบูร์กกลายเป็นเมืองแรกในเยอรมนีที่สามารถใช้ตึกร้างเอกชนเพื่อให้เป็นศูนย์ลี้ภัยรับคลื่นผู้อพยพ หลังมีการออกกฎหมายมาบังคับใช้ และจะมีผลภายในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้
หลังจากที่ทางฮัมบูร์กประสบปัญหาจัดการผู้อพยพจนทำให้มีผู้อพยพบางส่วนต้องนอนภายนอกตัวอาคารในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ที่จะบังคับใช้นี้เป็นมาตรการชั่วคราว และเจ้าของอาคารร้างเหล่านี้จะได้รับเงินตอบแทนในการที่รัฐขอเข้าใช้ แต่ทว่ากฎหมายยึดอาคารของฮัมบูร์กยังไม่รวมไปถึงตึกอาคารที่อยู่อาศัยทั่วไป ต่างจากเมือง Eschbach ทางใต้ของเยอรมนีที่ได้ยื่นจดหมายสั่งให้ผู้เช่าแฟลตชาวเยอรมันย้ายออกภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเมืองจะปรับเปลี่ยนอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์พักพิงผู้อพยพซีเรีย
เดลีเมล์ สื่ออังกฤษรายงานในเรื่องนี้วันที่ 1 ต.ค.ว่า เมื่อ กาเบรียล เคลเลอร์ (Gabrielle Keller) วัย 56 ปี ถือเป็นพลเมืองชาวเยอรมันรายที่ 2 ที่ได้รับจดหมายสั่งย้ายออกจากห้องเช่าที่เธอใช้ชีวิตนานไม่ต่ำกว่า 23 ปีออกภายในสิ้นปี 2015
ด้าน มาริโอ ชลาฟเค (Mario Schlafke) นายกเทศมนตรีเมือง Eschbach กล่าวยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีทางเลือก ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง “ทางสภาได้ตัดสินด้วยความรอบคอบ” ชลาฟเคให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เยอรมนี Welt ผ่านการรายงานของเดลีเทเลกราฟ สื่ออังกฤษ
นายกเทศมนตรีเมือง Eschbach กล่าวต่อว่า “ทางเลือกอื่นคือต้องใช้โรงยิมเป็นศูนย์ผู้ลี้ภัย ตั้งเตียงนอนและสิ่งต่างๆ ขึ้นที่นั่น”
สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เบ็ตตินา ฮาลเบย์ (Bettina Halbey) วัย 51 ปี เป็นพลเมืองเยอรมันรายแรกได้รับจดหมายจากเจ้าของอพาร์ตเมนต์ ในเมือง Nieheim ที่เธอได้เช่าอาศัยนานถึง 16 ปีทำการย้ายออก เพื่อปรับเปลี่ยนให้อพาร์ตเมนต์แห่งนี้เป็นสถานพักพิงของผู้อพยพ
โดยในขณะนั้น ฮาลเมย์มีเวลาจนถึงเดือนพฤษภาคมที่จะเก็บข้าวเก็บของออกจากแฟลตไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคลื่นผู้อพยพเข้าสู่เยอรมันได้กลายเป็นวิกฤตที่รัฐบาลภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ต้องเผชิญ โดยบีบีซีชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญเยอรมนีวิเคราะห์ว่า จะมีผู้อพยพไหลเข้าเยอรมนีตลอดทั้งปีไม่ต่ำกว่า 800,000 คน หรือคิดเป็น สูงกว่า 4 เท่าของปีที่ผ่านมา
และนโยบายเปิดประเทศรับผู้อพยพของแมร์เคิล ได้ทำให้เยอรมนีแตกออกเป็น 2 ส่วน ต้อนรับผู้อพยพ และประกาศต่อต้าน
ล่าสุดในวันพฤหัสบดี (1) ที่ผ่านมา เยอรมันต้องประสบปัญหาเมื่อเกิดเหตุจลาจลร่วม 200 คนภายในศูนย์พักพิงผู้อพยพ Hamburg-Bergedorf เพราะจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้อพยพซีเรียและอัฟกัน
ก่อนหน้านี้ในสิ้นเดือนกันยายน เกิดจลจลภายในศูนย์พักพิงในเมือง Kassel ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 14 ราย เพราะจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้อพยพอัลแบเนียซีเรีย และปากีสถาน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่บ่ายวันเสาร์ (27 ก.ย.) และกลายเป็นความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต
แต่ทว่าในเหตุครั้งนี้ตำรวจเยอรมันในพื้นที่ไม่ได้จับกุมผู้อพยพคนใด
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์อังกฤษ ดิเอ็กซ์เพรส รายงานเมื่อวานนี้ (2) ว่า ศูนย์ผู้อพยพในเมือง Kassel แห่งนี้ที่ประกอบไปด้วยเต็นท์สีขาวรับผู้อพยพเข้าอาศัยราว 1,500 คนจาก 20 ประเทศ
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ระยะเวลาเหตุไม่สงบกินเวลาหลายชั่วโมง และมีตำรวจเยอรมนี 3 นาย รวมอยู่ในจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ