รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ระบุ ถึงเวลาแล้วที่ต้องจำกัดการไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป โดยเฉพาะผู้อพยพจากตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา
โวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี วันอาทิตย์ ( 4 ต.ค.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ “ZDF” โดยระบุ ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายและทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมมือกันดำเนินทุกมาตรการที่มีความจำเป็น เพื่อหยุดยั้งวิกฤตการไหลบ่าเข้าสู่ยุโรปของบรรดาผู้อพยพที่หลบหนีภัยสงครามและความยากจนมาจากภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา ตลอดจนดินแดนแห่งความขัดแย้งในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
รัฐมนตรีคลังของเยอรมนียอมรับว่า การปล่อยให้ชาติในยุโรปเป็นผู้รับภาระในเรื่องผู้อพยพกลุ่มนี้แต่เพียงลำพัง ถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และว่าการรับผู้อพยพเข้าประเทศของชาติในยุโรปนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ทั้งนี้ ปัญหาคลื่นผู้อพยพไหลบ่าเข้าสู่เยอรมนี ได้กลายเป็นวิกฤตใหญ่ ที่รัฐบาลภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ต้องเผชิญ โดยคาดว่า จะมีผู้อพยพไหลเข้าสู่เยอรมนีตลอดทั้งปี 2015 นี้ ไม่ต่ำกว่า 800,000 คน หรือคิดเป็น จำนวนผู้อพยพที่สูงกว่า 4 เท่าของปีก่อนหน้า และดูเหมือนว่า นโยบายเปิดประเทศรับผู้อพยพของนางแมร์เคิล ได้ทำให้สังคมเยอรมันแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ต้องการอ้าแขนรับผู้อพยพ และฝ่ายที่ต่อต้าน
ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก อย่างนางแมร์เคิล ประกาศทุ่มงบประมาณ 6,000 ล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพระลอกใหม่นับแสนคนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาสู่เมืองเบียร์
ก่อนหน้านี้อันโตนิว กูเตร์เรส ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ออกโรงขานรับว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ยังถือเป็นปัญหาที่ “สามารถบริหารจัดการได้” หากทุกประเทศในยุโรปร่วมกันแสดงออกถึงความรับผิดชอบ และเห็นพ้องในแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นเอกภาพร่วมกัน ถึงแม้ระบบรองรับผู้ลี้ภัยของยุโรปในขณะนี้จะอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยไม่ต่างจากคนพิการ และยังมีหลายประเทศในยุโรปที่พยายาม “ปัดสวะให้พ้นตัว” อย่างไร้จิตสำนึก
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นข้อเสนอของฌอง โคล้ด ยุงค์เกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนปัจจุบันซึ่งเป็นชาวลักเซมเบิร์ก ที่เสนอให้มีการนำ “ระบบโควตารับผู้อพยพภาคบังคับ” มาประกาศใช้ในหมู่ 28 ชาติสมาชิก ของสหภาพยุโรป (European Union : EU) ซึ่งระบุว่า เยอรมนีและฝรั่งเศสในฐานะดินแดนที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดของภูมิภาคในยามนี้ จะต้องรับผู้อพยพเข้าประเทศไปมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนราว 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพจำนวน 120,000 – 160,000 รายที่เข้ามาปักหลักรออยู่แล้ว ในอิตาลี กรีซ ฮังการี และหลายชาติในยุโรปตะวันออกเวลานี้
ภายใต้แผนการนี้ของประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนปัจจุบัน เยอรมนีจะรับต้องผู้อพยพเข้าประเทศกว่า 31,000 คน ตามมาด้วยฝรั่งเศสราว 24,000 คน และสเปนอีกเกือบ 15,000 คน โดยที่มีข้อมูลว่ากว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพเหล่านี้มาจากซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน และเกือบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม