สหภาพยุโรปเตรียมประสานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดศูนย์จัดการผู้ลี้ภัยบนเส้นทางตั้งแต่กรีซผ่านกลุ่มประเทศบอลข่าน โดยตั้งเป้ารองรับผู้คนให้ได้ถึง100,000 คน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ช่วยตอบสนองวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงวันจันทร์ (26 ตุลาคม)
ผู้นำจากรัฐสมาชิกอียู 11 ชาติ และประเทศในภูมิภาคอีก 3 ชาติ เห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์รองรับในกรีซ ซึ่งจะมีสถานที่เพียงพอสำหรับผู้ลี้ภัย 30,000 คนภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ก็จะช่วยจัดหาสถานที่รองรับผู้ลี้ภัยให้ได้อีก 20,000 คน ภายในช่วงเวลาเดียวกัน
ศูนย์รองรับผู้ลี้ภัยอีก 50,000 คนจะถูกจัดตั้งขึ้นในกลุ่มประเทศบอลข่าน เช่น มาซิโดเนีย และเซอร์เบีย ซึ่งผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ใช้เป็นเส้นทางผ่านไปสู่เยอรมนีและประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
ในปีนี้มีผู้ลี้ภัยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาขึ้นฝั่งยุโรปแล้วไม่ต่ำกว่า 670,000 คน โดยส่วนใหญ่หนีภัยสงครามมาจากซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน ทำให้ยุโรปต้องเผชิญวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
คลื่นผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังเป็นภาระหนักต่อหลายประเทศที่อยู่ติดพรมแดนด้านตะวันออกของอียู โดยฮังการีถึงกับต้องสั่งปิดด่านพรมแดนเซอร์เบียและโครเอเชีย เพื่อสกัดผู้ลี้ภัยไหลเข้า ทว่ามาตรการเช่นนี้ก็ส่งผลให้เพื่อนบ้านอย่างสโลวีเนียต้องรับศึกหนักไปเต็ม ๆ โดยมีผู้ลี้ภัยผ่านเข้าประเทศแล้วมากกว่า 60,000 คน ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
จุงเกอร์ บอกกับสื่อมวลชน ว่า ที่ประชุมผู้นำทั้ง 14 ประเทศ มีมติเห็นชอบ “มาตรการเชิงปฏิบัติ 17 ประการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลี้ภัยไม่ต้องถูกทอดทิ้งให้เผชิญกับลมฝนและความหนาวเหน็บ”
ศูนย์จัดการผู้ลี้ภัยซึ่งจะตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกับ UNHCR จะให้ทั้งที่พักพิงชั่วคราว ลงทะเบียนผู้ลี้ภัย และช่วยบริหารจัดการการไหลเข้าของผู้คนให้เป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น
“การบริหารจัดการผู้ลี้ภัยคือหนทางเดียวที่จะนำความเป็นระเบียบเรียบร้อยกลับคืนมา และจะช่วยชะลอการหลั่งไหลเข้ายุโรปอย่างปราศจากการควบคุม” จุงเกอร์ กล่าว
ผู้ลี้ภัยราว 3,000 คน จบชีวิตลงกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนขณะพยายามล่องเรือมายังยุโรป และเนื่องจากฤดูหนาวกำลังจะมาถึง หลายฝ่ายจึงเกรงว่าผู้ลี้ภัยที่ใช้เส้นทางบกผ่านกลุ่มประเทศบอลข่านก็อาจมีชะตากรรมไม่แตกต่างกัน
ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เดินทางมาถึงกรีซเป็นประเทศแรก ทว่าหลายหมื่นคนปฏิเสธที่จะรั้งรอเพื่อผ่านการลงทะเบียนตามระเบียบของอียู และเลือกที่จะมุ่งหน้าต่อไปยังเยอรมนีและรัฐอียูอื่น ๆ ที่มีสภาพเศรษฐกิจดีกว่า
จุงเกอร์ ระบุว่า นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, ผู้นำกลุ่มประเทศบอลข่านที่เป็นสมาชิกอียู และอีก 3 ประเทศนอกอียู คือ แอลเบเนีย มาซิโดเนีย และเซอร์เบีย ได้ให้ความเห็นชอบต่อหลายมาตรการที่จะช่วยบรรเทาวิกฤตผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะการสร้างกลไกที่จะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผู้ลี้ภัยถูกปิดกั้นจนล้นทะลักในประเทศใดประเทศหนึ่ง