พบแล้ว2ศพเหยื่อเขื่อนเก็บน้ำเสียของเหมืองแร่บราซิลแตกท่วมหมู่บ้าน

พบผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ศพในวันศุกร์(6 พฤศจิกายน) จากเหตุเขื่อนกักเก็บน้ำเสียจากเหมืองในบราซิลแตกเมื่อวันพฤหัสบดี(5 พฤศจิกายน) ระหว่างที่ทีมกู้ภัยเข้าค้นหาร่างเหยื่อตามดินโคลนและเศษซากต่างๆ หลายชั่วโมงหลังจากน้ำโคลนที่เต็มไปด้วยกากแร่และสารพิษไหลทะลักเข้าท่วมตัวหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอย่างฉับพลัน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเผยพบมีแผ่นดินไหวเบาๆไม่ถึงชั่วโมงก่อนเกิดเหตุ

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงยืนยันจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ 30 คนและเสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย แต่มีความเป็นไปได้ที่ยอดเหยื่อจะพุ่งสูงกว่านี้ ขณะที่ฝนที่เทลงมาทำให้ปฏิบัติการค้นหาต้องดำนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากถนนถูกตัดขาดด้วยโคลนและเสาไฟฟ้าที่หักโค่น

“ผมได้ยินเสียงกรีดร้องและเห็นกระแสน้ำไหลมาเร็วมาก สูงราวๆ 15 ถึง 20 เมตร” อันโตนิโอ ซานตอส ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งเผย โดย ซานตอส เป็นคนงานก่อสร้างและกำลังอยู่ในบ้านพักในหมู่บ้านเบนโต โรดริเกส ตอนที่เขื่อนแตกเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดี(5 พฤศจิกายน) ขณะที่หมู่บ้านแห่งนี้ อยู่ห่างจากเบโล โฮริซอนเต เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของบราซิลและเมืองเอกของรัฐมีนัสเชไรส์ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 150 กิโลเมตร

“ภายใน 10 นาทีพื้นที่ลุ่มต่ำของหมู่บ้านก็ถูกทำลาย คิดเป็นราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้าน” เขากล่าว พร้อมเผยว่าเขาเห็นคน 4 คนถูกกระแสน้ำโคลนที่ไหลบ่าออกมาจากเขื่อนกักเก็บน้ำเสียจากเหมือง 2 แห่ง หลังเขื่อนแแตก ในนั้นมีเด็ก 2 คนและผู้ใหญ่ 2 คน อายุราวๆ 50 ปี ขณะที่ทีมดับเพลิงยอมรับไม่แน่ใจว่าจะพบคนเหล่านี้หรือไม่

เขื่อนดังกล่าวเป็นของบริษัทเหมือง ซามาร์โก ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง วาเล ของบราซิล และ บีเอชพี บิลลิตัน ของออสเตรเลีย ถูกใช้เพื่อกักเก็บกากแร่ น้ำ และสารเคมีที่เหลือจากการทำเหมือง และเนื่องจากจุดที่ตั้งเขื่อนอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำกัวลาโซ โด นอร์เต ชาวบ้านและทางการจึงเริ่มเป็นห่วงว่า เหตุการณ์นี้อาจทำให้สารพิษรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ

รายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์เผยให้เห็นภาพหมู่บ้านเบนโต โรดริเกส ซึ่งมีพลเรือนราว 600 คน ได้รับความเสียหายร้ายแรงจากน้ำที่ไหลบ่าอย่างฉับพลัน บ้านเรือนหลายสิบหลังถูกน้ำโคลนไหลลงมาท่วม รถยนต์คันหนึ่งกับลอยขึ้นไปติดบนกำแพง ส่วนหลังคาอาคารก็ถูกกระแสน้ำพัดจนฉีกขาดออกไป ขณะที่น้ำโคลนจากเขื่อนยังไหลต่อไปจนถึงหมู่บ้านบาร์รา ลอนกา ที่อยู่ห่างออกไปถึง 80 กิโลเมตรและเข้าท่วมบางพื้นที่ของหมู่บ้าน

ส่วนนายดูอาร์เต จูเนียน นายกเทศมนตรีเมืองมารินา ที่อยู่ห่างจากเหมือง 25 กิโลเมตร สั่งอพยพประชาชนหลายร้อยครอบครัวและให้ขึ้นไปอยู่ในพื้นที่สูง หลังจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในตอนเช้าวันศุกร์(6 พฤศจิกายน)

ศูนย์ธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยเซาเปาลู รายงานว่าได้เกิดแผ่นดินไหวระดับเบาๆ 4 ครั้ง วัดความรุนแรงได้ราวๆ 2 ถึง 2.6 ใกล้ๆเมืองมาเรียนาและหมู่บ้านอูโร เปรโต ราว 1 ชั่วโมงก่อนเขื่อนแตก แต่ยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเจาะจงว่ามันเป็นต้นตอของหายนะครั้งนี้หรือไม่ หากปราศจากการวิจัยอย่างครอบคลุมเพิ่มเติม

แอนดรูว์ แม็คเคนซีย์ ซีอีโอของบีเอชพี บิลลิตัน กล่าวระหว่างแถลงข่าวเมื่อคืนวันพฤหัสบดี(5 พฤศจิกายน) ไม่กี่ชั่วโมงหลังเขื่อนแตกว่า ยังไม่สามารถประเมินความสูญเสียและความเสียหายได้เนื่องจากเข้าสู่ช่วงค่ำมืดแล้ว

ขณะเจ้าหน้าที่ของซามาร์โก เผยในวันศุกร์(6 พฤศจิกายน) ว่าเชื่อนฟันเดาแตก ในเวลาไล่เลี่ยกับเขื่อนซานตาเร็ม ที่เหมืองเกอร์มาโนพังลงมาในวันพฤหัสบดี(5 พฤศจิกายน) แต่ยังเร็วๆเกินไปที่จะชี้ชัดถึงสาเหตุหรือขอบเขตความเสียหายของหายนะครั้งนี้

ขอบคุณ ASTV

ความคิดเห็น

comments