เตือนเฝ้าระวัง “โรคเมอร์ส” ต่อเนื่อง คาดเชื้อวิวัฒนาการ หวั่นรุนแรงกว่าเดิม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส ยังต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะจากการติดตามเชื้อไวรัสดังกล่าวพบว่า แม้จะพบมากในตะวันออกกลาง แต่ไม่ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและวงกว้างมากเท่าการระบาดของโรคเมอร์สในเกาหลีใต้ กลับมีความสามารถในการแพร่กระจายและการติดเชื้อรุนแรงกว่า จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นวิวัฒนาการหรือไม่ เพราะจากการติดตามการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสในค้างคาวก็พบความเปลี่ยนแปลง โดยค้างคาวแต่ละตัวมีการแลกเปลี่ยนเชื้อโคโรน่าไวรัสสลับกัน ทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมของเชื้อต่างชนิดให้กลายเป็นตัวใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากการเฝ้าระวังแล้ว ยังต้องมีมาตรการในการดูแลประชาชน ซึ่งการจะติดโรคหรือเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อมีหลายปัจจัย อาทิ คนในท้องถิ่นมีโรคประจำตัวอยู่ก็จะติดเชื้อได้ง่าย และจะรุนแรงกว่าคนร่างกายปกติ อย่าง คนไตวายจะมีโอกาสรับเชื้อเมอร์สง่ายและรุนแรงกว่า โรคประจำตัวของคนในท้องถิ่นอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรคโดยตรง แต่อาจกระทบทำให้โรคประจำตัวของบุคคลนั้นๆ เด่นชัดขึ้น เช่น ภาวะทุพโภชนาการ อย่าง การขาดวิตามินบี 1 ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีแรง และเสี่ยงติดเชื้อต่างๆได้อีก และการที่มีการใช้ยาสมุนไพรอาหารเสริม ยาชุดที่มีสเตียรอยด์ปนเมื่อใช้ไปนานๆก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคได้ทั้งนั้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาด หรือมีเชื้อโรคอะไรเข้ามา สิ่งสำคัญคือต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ว่า ขณะนี้เกิดโรคอะไร และจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร เริ่มแรกต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีก่อน อย่างคนไทยจะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการบริโภค ต้องรู้จักเลือกรับประทานแต่พอดี และระวังอาหารที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อต่างๆ นอกจากนี้ จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าเรายังขาดวิตามินบี 1 แต่เราไม่มีทางรู้ เพราะภายนอกร่างกายจะดูแข็งแรง แต่จริงๆแล้วภายในไม่มีทางทราบ จนก่ออาการแขนขาอ่อนแรงลง โดยในธรรมชาติร่างกายเราจะมีวิตามินบี 1 อยู่แล้วเพียงแต่การกินอาหารไม่ระมัดระวังจะไปทำลายวิตามินบี 1 ได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวขัดสี หรือปลาร้า ปลาดิบ หอยดิบ กุ้งดิบ เป็นต้น

ความคิดเห็น

comments