ทางการเมืองคลีฟแลนด์ มลรัฐโอไฮโอ ตัดสินใจไล่ออก 6 นายตำรวจซึ่งก่อคดีสาดกระสุน 137 นัดใส่ชายและหญิงผิวสีที่ปราศจากอาวุธจนถึงแก่ความตาย ระหว่างเหตุการณ์ขับรถไล่ล่าผู้ต้องสงสัยเมื่อปี 2012
เจ้าหน้าที่เมืองคลีฟแลนด์ซึ่งถูกสังคมวิจารณ์อย่างหนักที่ไม่ตัดสินใจลงโทษตำรวจเร็วกว่านี้ ระบุว่า การไล่ออกตำรวจทั้ง 6 นายคงจะช่วยฟื้นคืนความเชื่อมั่นของประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ตำรวจใช้ความรุนแรงกับคนผิวสีหลายคดี รวมไปถึงกรณีเด็กชายวัย 12 ปีที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตหลังถือปืนขู่เพื่อนในสนามเด็กเล่น ซึ่งต่อมาภายหลังพบว่าเป็นเพียง “ปืนปลอม”
เมืองคลีฟแลนด์ประกาศจะปฏิรูปการทำงานของตำรวจ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่าง “ปราศจากอคติ” ภายใต้ข้อตกลงที่ทำร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว
“คำประกาศยินยอม” ดังกล่าวมีขึ้นเพียง 2 วัน หลังจากประชาชนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนในเมืองคลีฟแลนด์ เนื่องจากไม่พอใจที่ตำรวจผิวขาวนายหนึ่งซึ่งมีส่วนในการไล่ล่ารถยนต์ของ ทิโมธี รัสเซลล์ และ เมลิสซา วิลเลียมส์ เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2012 ถูกตัดสินให้พ้นผิดเมื่อเดือน พฤษภาคม 2015
ไมเคิล เบรโล วัย 31 ปี เป็นหนึ่งในตำรวจ 13 นายที่ขับรถไล่ล่า 2 ผู้ต้องสงสัยผิวสีเป็นระยะทางถึง 35 กิโลเมตร
รถยนต์ที่ รัสเซลล์ และวิลเลียมส์ ขับมาเกิดเสียงระเบิดขึ้นในเครื่องยนต์ขณะขับผ่านสถานีตำรวจเมืองคลีฟแลนด์ แต่ตำรวจเข้าใจผิดคิดว่านั่นคือเสียงปืน
ตำรวจได้สาดกระสุนใส่รถยนต์ของพวกเขาถึง 137 นัด โดยเป็นกระสุนจากปืนของ เบรโล รวม 49 นัด ซึ่ง 15 นัดสุดท้ายเป็นการเข้าไปจ่อยิงถึงกระโปรงรถเชฟโรเลต มาลิบู ของรัสเซลล์
เบรโล และเพื่อนตำรวจอีก 5 นายถูกไล่ออกจากราชการเมื่อวันอังคาร (26 มกราคม) อีก 6 นายถูกลงโทษทางวินัย ส่วนตำรวจอีกนายหนึ่งได้เกษียณอายุไปแล้ว
เจ้าหน้าที่เมืองระบุว่า ตำรวจกลุ่มนี้ “กระทำเกินกว่าเหตุ” และยิงกระสุนร้อยกว่านัดออกไปในเวลาเพียง 20 วินาที ซึ่งอาจทำให้เพื่อนตำรวจโดนลูกหลงได้
การทำงานของตำรวจคลีฟแลนด์ยังถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากกรณีของ ทามีร์ ไรซ์ เด็กผิวสีวัย 12 ปี ซึ่งถูกตำรวจผิวขาวยิงตายคาสนามเด็กเล่น หลังถือปืนปลอมออกมาขู่เพื่อน เมื่อปี 2014
เดือนที่แล้ว คณะลูกขุนใหญ่ปฏิเสธที่จะตั้งข้อหากับตำรวจที่ยิงไรซ์