อิสราเอลซึ่งยังมีปัญหาความสัมพันธ์กับตุรกีหลังจากกองทัพอิสราเอลสังหารโหดพลเรือนตุรกีในเรือบรรเทาทุกข์มาวี มามารา ในปี 2010 ล่าสุดอิสราเอลออกมาใช้ข้อมูลชุดเดียวกับรัสเซียออกมาระบุในวันอังคาร (26 มกราคม) อ้าง ISIL ได้ตุรกีเป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงินผ่านการค้าขายน้ำมันเถื่อน คำกล่าวหาที่อาจเหนี่ยวรั้งความพยายามแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่เหินห่างกันมานานหลายปี
“มันขึ้นอยู่กับตุรกี รัฐบาลตุรกี ผู้นำตุรกี ที่จะตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในรูปแบบความร่วมมือใดๆ สำหรับต่อสู้กับก่อการร้ายหรือไม่ ซึ่งจนถึงตอนนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้น” โมเช ยาลอน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอลอ้างกับสื่อกรีซ
“ก็อย่างที่พวกคุณรู้ดีว่า ISIL กำลังสนุกสนานกับเงินของตุรกีจากการค้าน้ำมันมาเป็นเวลานานแสนนานแล้ว ผมหวังว่ามันจะสิ้นสุดเสียที” รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลให้สัมภาษณ์หลังพบปะกับนายปานอส คัมเมนอส รัฐมนตรีกลาโหมกรีซ
ตุรกียืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้ ISIL ซึ่งยึดครองดินแดนอันกว้างขวางในซีเรียและอิรัก ลอบค้าขายน้ำมัน ขณะที่สหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้วปฏิเสธคำกล่าวหาของรัสเซียที่ว่า รัฐบาลตุรกีและครอบครัวของประธานาธิบดี มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจขนน้ำมันจากกลุ่ม ISIL
อย่างไรก็ตาม ตุรกีออกมาเปิดเผยว่าผู้ที่มีส่วนสำคัญใหนการซื้อน้ำมันจากกลุ่ม ISIL คือพ่อค้าน้ำมันเถื่อนชาวรัสเซีย เชื้อสายซีเรีย ที่ซื้อน้ำมันราคาถูกจาก ISIL ส่งขายให้กับรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่า ไอเอสขายน้ำมันแก่พ่อค้าคนกลางที่ลักลอบนำน้ำมันข้ามแนวชายแดนเข้าไปยังตุรกี
นายยาลอนกล่าวหาด้วยว่าตุรกีปล่อยให้พวกนักรบเคลื่อนย้ายจากยุโรปเข้าซีเรียและอิรัก รวมถึงกลับจากซีเรียและอิรักคืนสู่ยุโรปในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่าย ISIL พร้อมอ้างหวังว่าตุรกีจะหยุดพฤติกรรมเช่นนี้
ความพยายามคืนสู่ความสัมพันธ์อันปกติระหว่างอิสราเอลกับตุรกีต้องสะดุดลงในเดือนนี้ หลังรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีเผยว่าไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับอิสราเอล ที่ทางตุรกีเรียกร้องเงินชดเชยจากอิสราเอล ในเหตุการณ์ทหารหน่วยรบพิเศษของอิสราเอลบุกสังหารโหดอาสาบรรเทาทุกข์ชาวตุรกี 9 คน และชาวอเมริกันเชื้อสายตุรกี 1 คนในปี 2010 ในน่านน้ำสากล ระหว่างที่เรือมุ่งหน้าหวังฝ่าการปิดล้อมของอิสราเอลสู่ฉนวนกาซา
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิสราเอลและตุรกีพบปะกันในเดือนธันวาคม ในความพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ ซึ่งอิสราเอลหวังที่จะขายก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ที่ตนยึดครองมาจากชาวปาเลสไตน์ให้กับตุรกี หลังตุรกีขู่ระงับการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียจากเหตุรัสเซียประกาศบอยคอตบางสินค้าจากตุรกี