DSI เตือน! แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาด อ้างเป็น จนท.หลอกโอนเงิน

แจ้งเตือนประชาชน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอหลอกเหยื่อโอนเงิน หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ย้ำมีความผิดเข้าข่ายสนับสนุนการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

วันจันทร์ (29 สิงหาคม) เวลา 12.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยนายนิธิต ภูริคุปต์ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ร่วมแถลงข่าวกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเพื่อหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินให้คนร้ายผ่านตู้เอทีเอ็ม (ATM)

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่ามีโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติติดต่อเข้ามายังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนซึ่งตกเป็นเหยื่อโดยอ้างว่าต้นสายโทรศัพท์มาจากธนาคารพาณิชย์ แต่ปัจจุบันแอบอ้างเป็นธนาคารกสิกรไทย และแจ้งว่าวงเงินสินเชื่อที่ขอไว้กับธนาคารได้รับการอนุมัติแล้ว หากสงสัยกด 0 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้กลุ่มคนร้ายสร้างเรื่องต่อไปอีกว่าอาจมีบุคคลแอบใช้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อไปเปิดบัญชีธนาคารและขอสินเชื่อจึงต้องส่งข้อมูลมาให้ดีเอสไอเพื่อตรวจสอบก่อนจะวางสายไป เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงตั้งแต่ พ.ศ.2547 ถึงปัจจุบัน

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์เผยอีกว่า หลังจากนั้นจะมีเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 0-2831-9888 พร้อมแอบอ้างว่าชื่อ ร.ต.อ.ธวัชชัย อยู่ตระกูล หรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ และสอบถามข้อมูลส่วนตัว รวมทั้ง ข้อมูลทางการเงินของเหยื่อเพิ่มเติม ก่อนจะแจ้งเหยื่อว่าถูกลักลอบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดบัญชีเพื่อการกระทำผิดกฎหมาย และย้ำให้เหยื่อวางใจด้วยการหลอกให้โทรศัพท์กลับไปตรวจสอบที่หมายเลข 0-2831-9888 อีกครั้ง เมื่อเหยื่อโทรศัพท์กลับไปจะพบว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ของดีเอสไอจริง ไม่ว่าจากการสอบถามผ่านหมายเลข 1133 ของ TOT หรือโทรศัพท์กลับไปยังหมายเลขดังกล่าวโดยตรง ต่อมาคนร้ายจะพูดหว่านล้อมเหยื่อให้ไปทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม อ้างให้เหยื่อโอนเงินมายังบัญชีของคนร้ายและถอนเงินจากบัญชีไป ส่งผลให้มีผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก

“ขอเตือนประชาชนว่าหากมีบุคคลพูดคุยโทรศัพท์ระหว่างใช้ตู้เอทีเอ็ม มั่นใจได้เลยว่าท่านกำลังถูกหลอก ดังนั้น อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่สร้างเรื่องและหลอกลวงให้ไปทำธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็ม เพราะจะมีการแอบอ้างเป็นหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น ดีเอสไอ สำนักงาน ปปง. ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร ธนาคารพาณิชย์ หรือตำรวจกองปราบปราม โดยในช่วง 2 เดือนระหว่าง ก.ค.-ส.ค.นั้นมีผู้ที่เดินเข้ามาร้องต่อดีเอสไอว่ามีคนแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แล้วหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินแล้ว 5 ราย โดย 2 รายโอนเงินไปให้ 8 แสนบาท กับ 4 แสนบาท ขณะอีกรายมาสอบถามที่ดีเอสไอก่อน และอีก 2 รายไม่หลงเชื่อ นอกจากนี้ กลุ่มคนร้ายคอลเซ็นเตอร์จะเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงจากในอดีตอ้างเรื่องเก็บเงินภาษี คืนเงินประกัน กระทั่งปัจจุบันมีกรณีบัตรเครดิตเข้ามาเกี่ยวข้อง” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์กล่าว

ด้านนายนิธิตกล่าวว่า กลุ่มมิจฉาชีพมีการระบาดหนักในขณะนี้ โดยคนร้ายจะใช้โทรศัพท์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ VOIP ซึ่งมีเทคนิคสามารถอำพรางให้แสดงเป็นหมายเลขโทรศัพท์หมายเลขใดก็ได้ให้ปรากฏไปยังโทรศัพท์ของผู้รับสายปลายทาง กรณีนี้คนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ จึงใช้ระบบกำหนดให้แสดงหมายเลขดังกล่าวจึงขอแจ้งเตือนมายังประชาชนให้ได้รับทราบ ซึ่งในส่วนดำเนินการเอาผิดคนที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารนั้นที่ผ่านมามีข้อตกลงร่วมกับอัยการว่าเอาผิดด้วย โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย และถูกจับกุมตัวได้ 10 ราย

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณันเผยว่า ฝากเตือนประชาชนขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ใช้วิธีการโทร.ไปหาโดยตรงเด็ดขาด เพราะกรณีที่เป็นทรัพย์เกี่ยวกับการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่ดีเอสไอมีอำนาจตามกฎหมายที่จะยึดหรืออายัดไว้เพื่อการตรวจสอบด้วยตนเองและจะมีหมายหรือหนังสือเชิญพยานหรือบุคคลใดมาให้ปากคำประกอบการยึดหรืออายัดทรัพย์ดังกล่าวที่ดีเอสไอเท่านั้น แต่หากสูญเสียเงินไปแล้วให้รีบแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีและแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุทันทีเพื่อจะได้ใช้อำนาจอายัดบัญชีไม่ให้คนร้ายถอนเงินไปจากบัญชี

พ.ต.ต.วรณันเผยต่อว่า ขอแจ้งเตือนไปยังกลุ่มบุคคล 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้สนับสนุนคอยวิ่งถอนเงินตามบัญชีที่มีการโอนเงินของเหยื่อ และ 2. กลุ่มที่นำสำเนาเอกสารกับบุคคลอื่นเปิดบัญชีเพื่อรับโอนเงินจากคนร้าย หากพบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาจต้องเป็นผู้ต้องหาในคดีด้วย หรือถูกดำเนินคดีฐานผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนซึ่งไม่คุ้มกับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยที่ได้รับจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ความคิดเห็น

comments