ทัพเรืออินโดฯ รับเรือดำน้ำใหม่ต่อโดยเกาหลี

เรือดำน้ำของกองทัพเรือเรืออินโดนีเซีย ที่ต่อจากเกาหลี เข้าจอดเทียบท่าที่ฐานทัพเมืองสุราบายา (Surabaya) ทางตะวันออกของเกาะชวา ในวันจันทร์ที่ (28 สิงหาคม) ผ่านมา หลังเดินทางเป็นเวลา 15 วัน จากอู่ต่อเรือของกลุ่มแดวู ทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี เป็นลำแรกจากทั้งหมด 3 ลำ ที่ต่อภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างสองฝ่าย โดยลำสุดท้ายกำลังต่ออยู่ที่อู่ต่อเรือในอินโดนีเซีย

“เรือแล่นในทะเลเป็นเวลา 15 วัน จากเกาหลีใต้ ตรงมายังสุราบายา” พล.ร.อ.อะเด สุปันดิ (Ade Supundi) ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์ ระหว่างพิธีต้อนรับเรือนากาปาซา 403 (KRI Nagapasa 403) ซึ่งตัวย่อนำหน้านั้น ไปจากชื่อ Kapal Republik Indonesia หรือ “เรือแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย” นั่นเอง

พิธีจัดขึ้นที่ท่าเทียบเรือดำน้ำ ฐานทัพเรือกออาร์มาติม (Koarmatim) โดยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน วิดีโอคลิปที่เผยแพร่โดยสื่อในอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นแถวทหารกองเกียรติยศ กับกองดุริยางค์บรรเลงเพลงชาติ และ มาร์ชกองทัพเรือ ต้อนรับ ขณะเรือหมายเลข 403 แล่นเข้าสู่อ่าวสุราบายาในวันเดียวกัน วิดีโออีกหลายชิ้นแสดงให้เห็นเรือ ขณะแล่นลอยลำบนผิวน้ำ เมื่อเข้าสู่เขตทะเลชวา น่านน้ำอินโดนีเซีย

สองลำแรกต่อโดยอู่ Daewoo Ship Build Marine Engineering หรือ DMSE ลำที่ 2 คือ เรืออาร์ดาเดดาลิ 404 (KRI Ardadedali) มีกำหนดส่งมอบและบรรจุในปลายปี 2561 ส่วนลำที่ 3 ซึ่งได้แก่เรือ อาลูกอรอ 405 (KRI Alugoro 405) ที่ต่อในอินโดนีเซีย มีกำหนดแล้วเสร็จ และบรรจุในปลายปี 2561 เช่นเดียวกัน

ผบ.ทร.อินโดนีเซียกล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา ความสามารถในการป้องกันใต้น้ำนั้น กองทัพเรือจะจัดหาเรือดำนน้ำทั้งหมด 12 ลำ ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการตลอดหลายปีข้างหน้า อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ

อินโดนีเซียกับกลุ่มแดวู เซ็นความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อปี 2554 และ เริ่มดำเนินการในปี 2556 ซึ่ง พล.ร.อ. อะเด กล่าวว่า การต่อเรือดำนน้ำ 1 ลำ ใช้เวลาถึง 4 ปี นับเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรืออินโดนีเซีย ที่มีหมู่เกาะ กับ เขตน่านน้ำภายใต้การดูแลกว้างใหญ่ไพศาลมาก เพื่อเป็นการกระชับเวลา อู่ต่อเรือ PT PAL ซึ่งเป็นรัฐวิสาหากิจในสังกัดกระทรวงกลาโหม ในสุราบายา จึงเริ่มต่อเรือลำที่ 3 ด้วยความร่วมมือกับ DMSE

เรือทั้งสามลำ เป็นการพัฒนาต่อยอดเรือชังโบโก (Chang Bogo) ซึ่งเป็นเรือดำน้ำโจมตีเร็ว ขนาด 1,200 ตัน ของกองทัพเรือเกาหลี ของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่กว่าคือ 1,440 ตัน ติดระบบนำร่อง ระบบเรดาร์ค้นหารุ่นใหม่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งที่พัฒนาโดยเกาหลีเอง และ จากแหล่งอื่นๆ ติดอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือแบบฮาร์พูน (UGM-84 Harpoon) ที่ผลิตในสหรัฐ กับตอร์ปิโดขนาดใหญ่ “ฉลามดำ” (Black Shark Torpedo) ที่ผลิตในอิตาลี แบบเดียวกับที่ใช้ในกองทัพเรือสิงคโปร์ กับ ราชนาวีมาเลเซีย ที่ต่างก็มีกองเรือดำน้ำของตนเองเช่นกัน

ความคิดเห็น

comments