เรือลี้ภัยโรฮิงญาล่มตาย 20 วิระธูจี้รัฐฯปราบโรฮิงญาหนักขึ้น

เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนบังกลาเทศกู้ศพผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงญาได้ 20 ศพ ในวันพฤหัสบดี (31 สิงหาคม) หลังเรือพลิกคว่ำขณะหลบหนีความรุนแรงในพม่า ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ ขณะที่เมืองย่างกุ้งกลุ่มชาตินิยมพม่าชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลปราบโรฮิงญาให้หนักขึ้น

ชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 18,500 คน ที่หลายคนล้มป่วยและมีบาดแผลจากการถูกยิง ข้ามแดนเข้ามาในเขตบังกลาเทศตั้งแต่วันศุกร์ (25) ตามการระบุขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)

ชาวโรฮิงญาได้หลบหนีออกมาจากพม่าจากปฎิบัติการปราบปรามอย่างรุนแรงของทหารพม่า

ทางการพม่าได้อพยพชาวพุทธ และชาวฮินดูหลายพันคนออกจากพื้นที่เสี่ยง ที่การต่อสู้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 117 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อเหตุชาวโรฮิงญา และเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงอีกจำนวนหนึ่ง ตามการระบุของรัฐบาลพม่า

ในวันพฤหัสบดี (31) ศพเด็กชาวโรฮิงญา 11 ศพ และผู้หญิง 9 ศพ ถูกกระแสน้ำพัดเกยฝั่งแม่น้ำนาฟในฝั่งบังกลาเทศ หลังเรือที่ทั้งหมดโดยสารมาเกิดพลิกคว่ำ

นอกจากนั้นยังพบศพหญิงโรฮิงญา 2 ศพ และเด็กอีก 2 ศพ เมื่อวันพุธ หลังเรือที่เหยื่อโดยสารถูกตำรวจรักษาชายแดนพม่ายิงใส่

ค่ายพักชั่วคราวสำหรับผู้พลัดถิ่นที่ตั้งขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงคล้ายกันนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ถูกตั้งขึ้นในเมืองคอกซ์บาซาร์ ที่มีชายแดนติดกับพม่า ได้ขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับผู้อพยพที่เดินทางมาใหม่หลายพันคนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

โมฮัมหมัด รอชีด อายุ 45 ปี หนึ่งในผู้ที่หลบหนีมาใหม่มีผ้าพันแผลปิดอยู่ใต้ดวงตา เล่าว่าเป็นแผลจากเศษกระสุนปืนที่พุ่งเข้าใส่หลังทหารพม่ายิงเข้าใส่กลุ่มโรฮิงญา

“พวกเราซ่อนตัวอยู่ในป่านาน 2 วัน แล้วก็หยุดอยู่ที่ชายแดน แต่เราสามารถผ่านเข้ามาได้ เราได้ยินว่าบ้านหลายหลังในหมู่บ้านของเราถูกเผาราบ” รอชีด กล่าวกับรอยเตอร์ ที่ค่ายพัก

เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนบังกลาเทศระบุว่า เมื่อวันพุธ (30) ทางการได้ผลักดันชาวโรฮิงญาที่พยายามจะเข้ามาในประเทศกลับไปฝั่งพม่า 366 คน ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาด้วยเรือขนาดเล็ก และมีชาวโรฮิงญาอีกหลายพันคนตั้งค่ายพักชั่วคราวอยู่ตามแนวพรมแดนระหว่างสองประเทศ

ด้านเอพีรายงานว่าพระวิระธูปลุกม็อบชาตินิยมหลายร้อยคน รวมทั้งพระสงฆ์ ได้ชุมนุมกันในนครย่างกุ้งวันพุธ (30) เรียกร้องการดำเนินการที่หนักขึ้นกับนักรบชาวโรฮิงญาที่โจมตีตำรวจเมื่อสัปดาห์ก่อน

ขณะที่กองทัพที่มีการส่งกำลังทหารเข้าไปเตรียมพร้อมไว้ไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุโจมตีได้อ้างเหตุดังกล่าวในการโจมตีหมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่เกิดขึ้นด้วยสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย และรัฐบาลได้กล่าวโทษเหมือนครั้งก่อนว่ากลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาและผู้ที่เห็นอกเห็นใจชาวโรฮิงญาก่อความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง

พระวิระธู พระซึ่งถูกมหาเถรสมาคมพม่าออกมติห้ามเทศ 1 ปี และยังไม่พ้นกำหนด แต่ขณะนี้ได้ออกมาเป็นแกนนำกลุ่มชาตินิยมพม่าในการเคลื่อนไหวต่อต้านชาวมุสลิม โดยเขากล่าวกับผู้ชุมนุมในนครย่างกุ้งว่ามีเพียงทหารเท่านั้นที่สามารถควบคุมสถานการณ์ในรัฐยะไข่

พระหัวรุนแรงรายนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเรือนของนางอองซานซูจีที่ไม่ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อคำร้องของกองทัพสำหรับการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงและป้องกันแห่งชาติ ซึ่งอาจประกาศภาวะฉุกเฉินในรัฐยะไข่และมอบอำนาจให้ทหารอย่างเต็มที่

“มีเพียงแต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเท่านั้นที่สามารถปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทหารเป็นเพียงทางเดียวที่สามารถให้บทเรียนกับกลุ่มก่อการร้ายเบงกาลี” พระวิระธู กล่าว โดยใช้คำว่าเบงกาลีในการอ้างถึงโรฮิงญา ซึ่งเป็นการใช้คำเรียกโรฮิงญาตามจุดยืนเดียวกับทหารพม่าเพื่อต้องการกล่าวหาว่าคเหล่านี้เป็นชาวบังกลาเทศ

พระวิระธูยังตำหนิองค์กรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศที่รัฐบาลกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่าให้ความช่วยเหลือกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญา ส่งผลให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์

กระทรวงข้อมูลข่าวสารระบุว่ามีระเบิดแสวงเครื่องถูกจุดชนวน 45 ลูก และมีหมู่บ้าน 7 แห่ง ด่านรักษาความมั่นคง 1 แห่ง และชุมชนในเมืองหม่องดอ 2 แห่ง ถูกเผาทำลายเมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ ซึ่งเมืองหม่องดอตั้งอยู่ในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ เป็นศูนย์กลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ขณะที่ อัลญะซีเราะห์รายงานว่าชาวโรฮิงญา และนักเคลื่อนไหวระบุว่าทหารพม่าได้ทำการสังหารชาวโรฮิงญาไม่เว้นแม้ชาย หญิง และเด็ก ก่อนจะก่อเหตุเผาบ้านเรือนของพวกเขา

HRW กล่าวถึงการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมว่าสถานที่เกิดเพลิงไหม้มีความสัมพันธ์กับคำบอกเล่าของพยานบางส่วน และรายงานจากสื่อที่อธิบายถึงการตั้งเป้าหมายอย่างจงใจในการโจมตี

“ข้อมูลดาวเทียมใหม่นี้น่าจะทำให้เกิดความกังวล และการดำเนินการโดยผู้บริจาคและหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลพม่าเปิดเผยขอบเขตการทำลายล้างอย่างต่อเนื่องในรัฐยะไข่” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของ HRW กล่าวในแถลงการณ์

ความคิดเห็น

comments