ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูงของสหประชาชาติกล่าวว่า ชาวโรฮิงญายังคงถูกกดขี่ข่มเหงอย่างต่อเนื่องภายในพม่า และเตือนว่ามีโอกาสเพียงน้อยมากที่ผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีเพราะได้รับความคุ้มครองจากพันธมิตรจากชาติทรงอำนาจในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าของสหประชาชาติได้แสดงความเห็นดังกล่าวระหว่างเยือนบังกลาเทศ ที่ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน อพยพหลบหนีตายจากการปราบปรามทางทหารของพม่าตั้งแต่ 25 สิงหาคม 2560
หน่วยงานเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและสหรัฐฯ ระบุว่าพม่าดำเนินการกวาดล้างชาติพันธุ์ หลังผู้ลี้ภัย กลุ่มสิทธิมนุษยชน และนักข่าวรายงานถึงเรื่องราวการข่มขืน การเข่นฆ่า และการวางเพลิงเผาหมู่บ้านชาวโรฮิงญาจากปฎิบัติการทางทหารของพม่า
“ความรุนแรงอย่างเป็นระบบที่มุ่งเป้าไปยังประชากรโรฮิงญาที่เหลืออยู่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ยางฮี ลี กล่าวกับนักข่าวในกรุงธากา หลังเดินทางเยี่ยมค่ายในพื้นที่ทางภาคใต้ของบังกลาเทศ ที่ผู้ลี้ภัยโรฮิงญานับล้านคนอาศัยยู่เวลานี้
แต่เธอกล่าวอย่างสิ้นหวังที่ว่าบรรดานายพลพม่าจะขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศในเร็ววันนี้ โดยระบุว่ารัสเซีย และจีน จะปกป้องพวกเขา
“ตามที่คุณทราบว่าการส่งเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศภายใต้โครงสร้างปัจจุบันของเวทีระหว่างประเทศนั้น คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติต้องเป็นผู้ส่งเรื่อง และตามที่คุณทราบ มีสมาชิกถาวรสองประเทศเป็นเพื่อนกับพม่าซึ่งจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น” ยางฮี ลี ย้ำ
ยางฮี ลี ไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศโดยตรง แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า รัสเซีย และจีน ที่เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้การสนับสนุนพม่า คอยวีโตร่างมติ และปกป้องพม่าจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเวทีสหประชาชาติ
https://www.youtube.com/watch?v=_f_IbnkfF9o