กระทรวงสาธารณสุข เข้าพบสำนักจุฬาราชมนตรี หารือแก้ปัญหาการฉีดวัคซีนในกลุ่มพี่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้ ที่แม้สถานการณ์ในภาพรวมจะดีขึ้น แต่ยังคงพบบางส่วนไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโรค อีกทั้งไม่อนุญาตให้ครอบครัวเข้ารับการฉีดวัคซีนด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทางศาสนา
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 61 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักจุฬาราชมนตรี มีการประชุมหารือร่วมกัน โดยตัวแทนของสำนักจุฬาราชมนตรีประกอบด้วย อ.ประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี, อ.อรุณ บุญชม รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี, อ.สุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี, คุณคัมภีร์ ดิษฐากร ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี และ คุณอิธวัฒน์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี เป็นตัวแทนท่านจุฬาราชมนตรี ให้การต้อนรับตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข โดยมี น.พ.สวัสดิ์ รามบุตร แพทย์เกษียณจากองค์การอนามัยโลก, น.พ.อนุตรศักดิ์ รัชตะทัต นายแพทย์สานักงานควบคุมโรคเขต 1 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, น.พ.จรุง เมืองชนะ ผู้อานวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์กรมหาชน), น.พ.ชนินันท์ สนธิไชย หัวหน้ากลุ่มพัฒนางานวัคซีนพื้นฐาน กองป้องกันโรคด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ทันตแพทย์หญิงผานิตา โกมลมาลย์ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์กรมหาชน)
จากการที่สาธารณสุขตรวจเยี่ยมงานสร้างเสริมภูมคุ้มกันโรคใน 3 อำเภอของ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ อ.ทุ่งยางแดง ปัตตานี อ.รือเสาะ นราธิวาส และ อ.บันนังสตาร์ ยะลา) ระหว่างเดือนสิงหาคม – เดือนตุลาคม พบปัญหาคือพื้นที่ชุมชนมุสลิมมักจะมีการต่อต้านและห้ามไม่ให้ครอบครัวเข้าฉีดวัคซีน อันเป็นสาเหตุให้การควบคุมโรคติดต่อเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะมีความเชื่อว่าวัคซีนมีส่วนผสมต้องห้ามของศาสนาอิสลาม แม้จะมีคำวินิจฉัยทางศาสนา(ฟัตวา)ที่ 06/2526 ของท่านจุฬาราชมนตรีออกมาแล้วว่า “ถือเป็นภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบของพ่อแม่ และผู้ปกครองในการนำลูกหลานของ ตนไปรับวัคซีนป้องกันโรค” ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกมองว่ามุสลิมเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมโรคติดต่อต่างๆ จึงขอความร่วมมือผ่านทางสำนักจุฬาราชมนตรีช่วยแจ้งผ่านคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอีหม่ามประจำมัสยิดต่างๆ
อ.ประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ระบุว่าสำนักจุฬาฯ ยินดีร่วมแก้ปัญหาดังกล่าวโดยขอให้ภาครัฐใช้สื่อของทางการดึงคนในพื้นที่และต้องเป็นมุสลิมที่ชาวบ้านน่าเชื่อถือมาร่วม และได้มีการมอบหมายให้คุณคัมภีร์ ดิษฐากร ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรี เป็นผู้ประสานงานแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมติงว่าที่ผ่านมาภาครัฐมักจะให้ความสำคัญกับสำนักจุฬาเมื่อเวลามีปัญหาเท่านั้น จึงเป็นการทำงานในระดับแก้ไขได้เพียงอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะมีปัญหามาให้แก้ไขอย่างต่อเนื่อง พร้อมย้ำว่าทางสำนักจุฬาราชมนตรียินดีดำเนินการอย่างต่อเนื่องแต่อยากให้ทางการร่วมสนับสนุนด้วย