กรรมการสิทธิ์ UN วิจารณ์ ฝรั่งเศสละเมิดสิทธ์ที่ห้ามมุสลิมปิดหน้า

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายห้ามคลุมฮิญาบแบบปิดหน้าหรือนิกอบของฝรั่งเศสว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของสตรีสองคนที่ถูกปรับ หลังจากเธอคลุมฮิญญาบแบบปิดหน้าในที่สาธารณะ

อาหรับนิวส์ รายงานว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้ฝรั่งเศสชดเชยให้กับพวกเธอ และทบทวนกฎหมายที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2010 ที่ห้ามมิให้สตรีมุสลิมคลุมฮิญาบแบบปิดหน้า

“กฎหมายฝรั่งเศสทำร้ายสิทธิของผู้ร้องเรียนอย่างไม่เหมาะสมต่อการแสดงความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา” คณะกรรมการกล่าวในแถลงการณ์

แถลงการณ์ระบุอีกว่าข้ออ้างของฝรั่งเศสที่ว่าการห้ามคลุมฮิญาบแบบปิดหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัย และเหตุผลทางสังคม นั้นไม่ถูกต้อง

สตรีชาวฝรั่งเศสสองคนถูกตัดสินลงโทษในปี 2012 หลังพวกเธอสวมนิกอบ

“การห้ามสตรีมุสลิมสวมฮิญาบแบบปิดหน้าในที่สาธารณะอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม ที่จะกักขังพวกเธอให้อยู่แต่ในบ้านของพวกเธอ และขัดขวางการเข้าถึงบริการสาธารณะของพวกเธอ และทำให้พวกเธอกลายเป็นคนชายขอบ” แถลงการณ์ระบุ

ด้านกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสออกมาตอบโต้สหประชาชาติโดยอ้างว่าการคลุมฮิญาบแบบปิดหน้า “เข้ากันไม่ได้กับหลักการของพี่น้อง และคุณค่าพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และเปิดกว้าง” ของฝรั่งเศส

กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสยังอ้างอีกว่าศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้ชี้ว่ากฎหมายห้ามคลุมฮิญาบแบบปิดหน้าดังกล่าวมิได้เป็นการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอิสลามของผู้สวมใส่ และอ้างว่าจะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการด้านกฎหมายสหประชาชาติ

คณะกรรมการสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระช่วยให้มั่นใจว่าประเทศต่างๆ จะยึดมั่นในสิทธิมนุษยชน แต่คณะกรรมการดังกล่าวก็ไม่มีอำนาจบังคับให้ประเทศใดต้องปฎิบัติตาม

แถลงการณ์ยังระบุว่ากฎหมายห้ามคลุมฮิญาบแบบปิดหน้าของฝรั่งเศสเป็นการ “เหมารวม” โดยรัฐบาลยังคงสามารถทำให้ผู้คนแสดงใบหน้าของตนในสถานการณ์เฉพาะกรณีได้ตามพื้นฐานกฎหมายความมั่นคง

การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการถกเถียงกันยาวนานในฝรั่งเศสเกี่ยวกับการแต่งขายของศาสนาอิสลาม และการแต่งกายทางศาสนาอื่น ๆ

การอภิปรายได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อรัฐธรรมนูญแบบฆราวาสของฝรั่งเศส ขณะที่บรรดาผู้ที่โต้แย้งชี้ว่าเป็นเสรีภาพทางศาสนา

กฎหมายที่ออกมาในปี 2010 ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy โดยอ้างว่าคลอบคลุมทุกศาสนา แต่หลายคนชี้ว่าเป้าหมายของกฎหมายนี้คือกลุ่มสตรีมุสลิมในประเทศฝรั่งเศสที่สวมผ้าคลุมฮิญาบแบบปิดหน้า

กฎหมายดังกล่าวถูกวิจารณ์เป็นการเอาใจกลุ่มขวาจัด แต่กลับได้รับการสนับสนุนจากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีจำนวนมากทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายห้ามคลุมฮิญาบแบบปิดหน้า

ฝรั่งเศสเป็นบ้านของมุสลิมประมาณ 5 ล้านคน และสตรีที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวจะถูกปรับสูงถึง 150 ยูโร (5,600 บาท)

“ส่วนใหญ่ของกรณีที่เกิดขึ้น สตรีที่สวมนิกอบจะถูกตรวจสอบ และการลงโทษเป็นไปอย่างประนีประนอม” Ilze Brands-Kehris สมาชิกคณะกรรมการบอก AFP

“ในบริบทของสตรีที่สวมฮิญาบแบบเต็มหน้าในฝรั่งเศสกว่า 2,000 คน … มีผลกระทบอย่างมากจากฎหมายนี้”

ประเทศในสหภาพยุโรปอื่น ๆ รวมถึงเดนมาร์ก, ออสเตรีย และเบลเยียมได้ดำเนินการตามฝรั่งเศสในการออกกฎหมายห้ามคลุมฮิญาบแบบปิดหน้าเช่นกัน

ท่าทีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสวนทางกับศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรปในปี 2014 ที่สนับสนุนกฎหมายห้ามคลุมฮิญาบแบบปิดหน้าของฝรั่งเศส

ศาลยุโรปอ้างว่าฝรั่งเศสออกกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของการติดต่อกันทางสังคม “ไม่ได้มีความหมายแฝงในการเจาะจงห้ามการแต่งกายทางศาสนา”

ในเดือนสิงหาคมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังวิพากษ์วิจารณ์ฝรั่งเศสกรณีที่มีการไล่คนงานคนหนึ่งออกหลังจากเธอปฏิเสธที่จะถอดผ้าคลุมฮิญาบออกจากที่ทำงาน และชี้ว่าเป็นการแทรกแซงสิทธิในการแสดงออกทางศาสนาของเธอ

ความคิดเห็น

comments