ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ของสหประชาชาติ เตรียมออกคำตัดสินข้อเรียกร้องว่าด้วยมาตรการฉุกเฉินในคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับพม่าในวันที่ 23 มกราคมนี้ กระทรวงยุติธรรมแกมเบียเผยผ่านทวิตเตอร์
แกมเบีย ประเทศในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลในเดือน พฤศจิกายน 2019 กล่าวหาพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อประชากรชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา
แกมเบียระบุว่า พม่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่สมาชิกสหประชาชาติรวมถึงแกมเบียและพม่าร่วมลงนามในปี 1948 จากปฏิบัติการของทหารพม่าที่ได้ขับไล่ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ต้องหนีตายออกจากประเทศ
แกมเบียได้ขอให้ศาลโลกออกคำสั่ง “มาตรการฉุกเฉิน” เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นอีก ในขั้นตอนแรกของคดีความที่คาดว่าจะดำเนินต่อไปอีกหลายปี
นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า เดินทางไปยังกรุงเฮกเมื่อเดือนธันวาคม 2019 เพื่อกล่าวในศาลปกป้องปฎิบัติการทางทหารของพม่าภายใต้การนำของเธอจากข้อกล่าวหา เธอปฏิเสธว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญา และกล่าวว่า ศาลไม่มีเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีนี้
นอกจากนี้ เธอยังอ้างว่าพม่าได้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีต่อทหารและเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรม และด้วยสถานการณ์เหล่านั้น ศาลไม่ควรเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของพม่า
แกมเบียชี้ว่า ไม่สามารถเชื่อถือพม่าได้ว่าจะนำตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และได้ร้องขอศาลให้ออกคำสั่งมาตรการฉุกเฉินต่อพม่า เพื่อยุติกองกำลังของประเทศจากการกระทำทั้งหมดที่มีส่วนให้เกิดอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งรวมถึงการสังหาร การข่มขืน และการทำลายบ้านเรือนและหมู่บ้าน
แกมเบียยังขอให้ผู้พิพากษามีคำสั่งต่อพม่าให้รับรองว่าหลักฐานใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวกับการกระทำทารุณโหดร้ายต่อชาวโรฮิงญานั้นถูกเก็บรักษาไว้
แม้คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีผลผูกพันต่อข้อปฎิบัติ และไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ศาลไม่มีอำนาจบังคับใช้ ซึ่งหลายประเทศมักเพิกเฉยต่อคำตัดสินหรือไม่ปฏิบัติตามอย่างเต็มที่