ทรัมป์ สั่งตรวจสอบ “ไทย” และอีก 15 ประเทศ มีพฤติกรรมค้าไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี 2 ฉบับ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุติการขาดดุลการค้าในปริมาณมหาศาลถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนหรือราว 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีลง โดยพุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแสวงหามาตรการเพื่อดำเนินการต่อประเทศต่างๆ ที่สหรัฐอเมริกากำลังเสียดุลการค้าอยู่ในเวลานี้รวม 16 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งนายทรัมป์กล่าวรวมๆโดยไม่ระบุชื่อประเทศออกมาว่าเป็นบรรดาประเทศที่ “ฉ้อโกง” ในการส่งสินค้าเข้ามาขายในสหรัฐอเมริกามานาน กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยมอบหมายให้การตรวจสอบดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจของนาย วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา

ทรัมป์กล่าวว่า เป้าหมายของคำสั่งทั้ 2 ฉบับคือบรรดาประเทศที่ฉ้อโกงในการนำสินค้าเข้ามายังสหรัฐอเมริกาและอ้างว่าจะทำให้สัดส่วนการขาดดุลการค้าลดลง ซึ่งทรัมป์อ้างว่าสหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ามากที่ผ่านมานั้นสืบเนื่องจากพฤติกรรมขี้โกงของต่างชาติและ “ความตกลงการค้าที่แย่ๆ” โดยนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์จะเป็นผู้นำในการค้นหาปัจจัยและการละเมิดดังกล่าวนี้ ผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปเป็นพื้นฐานในการดำเนินการเท่าที่จำเป็นและถูกต้องตามกฎหมายเพื่อยุติการบิดเบือนใดๆที่มีอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะในทางการเมืองหรือการเงิน ตนไม่แคร์ทั้งนั้น

รายงานข่าวระบุว่า ในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับแรก กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ และ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ตรวจสอบบรรดาประเทศที่สหรัฐอเมริกากำลังขาดดุลการค้า 16 ประเทศเป็นรายประเทศ เพื่อจำแนกแยกแยะให้ได้ว่า การขาดดุลการค้าเกิดจากสาเหตุที่ผิดปกติและละเมิดกฏเกณฑ์ทางการค้าหรือไม่ ทั้งนี้ใน 16 ประเทศที่ถูกระบุไว้นั้น มีประเทศที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าอยู่สูงสุด 6 ประเทศเรียงตามลำดับคือ
จีน (347,000 ล้านดอลลาร์)
ญี่ปุ่น (68,900 ล้านดอลลารร์)
เยอรมนี (64,900 ล้านดอลลาร์)
เม็กซิโก (63,200 ล้านดอลลาร์)
ไอร์แลนด์ (35,900 ล้านดอลลาร์)
เวียดนาม (32,000 ล้านดอลลาร์)

นอกจากนั้นยังมีอีก 10 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว คือ อิตาลี, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไทย, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และ แคนาดา

ในคำสั่งฉบับที่ 2 นั้นเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อการคุ้มครองพรมแดนและศุลกากร (ซีบีพี หรือสำนักงานศุลกากรเดิม) ของสหรัฐอเมริกา ในการประเมิน, ดำเนินมาตรการลงโทษทางการเงินต่อสินค้าที่ส่งเข้ามาด้วยพฤติกรรมทางการค้าผิดปกติและไม่เป็นธรรม หรือการเรียกเก็บภาษีขาเข้าเพื่อตอบโต้การกระทำที่เข้าข่ายการทุ่มตลาดดังกล่าวและจัดเก็บเงินดังกล่าวนี้

เอเอฟพีรายงานว่า นายรอสส์ กล่าวถึงคำสั่งประธานาธิบดีนี้ว่า จะส่งผลให้มีการวิเคราะห์การค้า “เป็นรายประเทศและรายสินค้า” เพื่อมองหาหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการ “โกง” หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางด้านการค้าอยู่หรือไม่ อาทิ การไม่ทำการค้าตามความตกลงทางการค้าระหว่างกัน, การไม่บังคับใช้ให้เป็นไปตามความตกลงทางการค้า, การบิดเบือนค่าเงินให้อ่อนค่าผิดปกติเพื่อผลทางการค้า, การเสียเปรียบทางการค้าที่เกิดจากข้อจำกัดตามกฏขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความตกลงการค้าต่างๆ โดยย้ำว่า คงไม่ต้องบอกทุกคนก็รู้ได้ว่า แหล่งใหญ่ที่เป็นที่มาของการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาก็คือจีน

อย่างไรก็ตาม นายรอสส์กล่าวด้วยว่า คำสั่งนี้ไม่ได้หมายถึงว่าสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตอบโต้หรือใช้มาตรการปรับแก้กับทุกประเทศที่ระบุไว้ในรายการ โดยยกตัวอย่างไว้ว่า อย่างเช่นการนำเข้าน้ำมันจนขาดดุล ก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด เนื่องจากเป็นการนำเข้าที่แท้จริงเพราะสหรัฐอเมริกาผลิตได้ไม่เพียงพอกับการใช้ภายในประเทศ เช่นเดียวกับการขาดดุลกับประเทศที่ผลิตสินค้าซึ่งสหรัฐอเมริกาผลิตไม่ได้หรือไม่ผลิต และประเทศที่ผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งได้ดีกว่าหรือราคาถูกกว่าจริงๆ เป็นต้น

ในขณะที่หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์รายงานในวันเดียวกันระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาสำนักงานสถิติและสำมะโนแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐอเมริกาอยู่ 18,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 15,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2558 และ 14,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2557 สินค้าที่เป็นกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้คือ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์และยางรถยนต์ โดย 35 เปอร์เซ็นต์ของยางรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นยางที่นำเข้าจากประเทศไทย ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาและจีนเป็นตลาดสินค้าออกใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อปีที่ผ่านมา มีปริมาณส่งออกรวมกันแล้วสูงถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าออกทั้งหมดของไทย

ความคิดเห็น

comments