ผบ.พม่ากร้าว UN ไม่มีสิทธิแทรกอธิปไตย

ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า กล่าวว่า สหประชาชาติไม่มีสิทธิที่จะแทรกแซงในอธิปไตยของประเทศ เป็นการออกมาแสดงความเห็นครั้งแรกหลังสัปดาห์ก่อนผู้สืบสวนสหประชาชาติเรียกร้องให้จับ ผบ.สส.และนายพลระดับสูงอีก 5 นาย ถูกฟ้องดำเนินคดีจากข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา

การโต้ตอบอย่างท้าทายครั้งนี้ เป็นการตอบสนองในที่สาธารณะครั้งแรกของผู้บัญชาการทหารสูงสุด นับตั้งแต่ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อนายพลระดับสูงของกองทัพพม่า ยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ยังปฏิเสธความต้องการของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้กองทัพพม่า ออกจากระบอบการเมืองของประเทศ ที่กองทัพยังคงมีอิทธิพลมหาศาลแม้ประเทศเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองของพลเรือนในปี 2554 แล้วก็ตาม

“ไม่มีประเทศ องค์กร หรือกลุ่มใดมีสิทธิที่จะแทรกแซงและตัดสินเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของประเทศ การเจรจาเพื่อแทรกแซงกิจการภายในประเทศก่อให้เกิดความเข้าใจผิด” หนังสือพิมพ์เมียวดี รายงานคำกล่าวของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ที่มีต่อนายทหารเมื่อวันอาทิตย์

ผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังกล่าวอย่างชัดเจนว่า กองทัพไม่มีความตั้งใจที่จะออกจากระบอบการเมืองของประเทศ

“หากดูที่แนวทางปฏิบัติของประชาธิปไตยในโลก หลายประเทศใช้ระบบประชาธิปไตยที่เหมาะสมเข้ากันกับพวกเขา” พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย กล่าว และอ้างอีกว่า พม่าจำเป็นต้องยุติความขัดแย้งเพื่อมุ่งไปสู่ประชาธิปไตยแบบหลายพรรคที่แท้จริง และกองทัพจะยังพยายามอย่างต่อเนื่องให้บรรลุสันติภาพที่เป็นนิรันดร

ผู้สืบสวนสหประชาชาติได้รายงานรายละเอียดเกี่ยวกับความทารุณโหดร้ายที่กระทำการโดยกองกำลังทหารเมื่อปีที่ผ่านมาในปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา ส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ต้องอพยพข้ามแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ

กองกำลังทหาร ที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มม็อบชาวยะไข่ ก่อเหตุเข่นฆ่า ข่มขืน วางเพลิง และทรมาน ใช้ความรุนแรงในระดับที่ยากจะหยั่งถึง และไม่สนใจชีวิตมนุษย์ ตามการระบุของผู้สืบสวนสหประชาชาติ

ทหารปฏิเสธข้อกล่าวหาเกือบทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า การปราบปรามของทหารเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายในการกำจัดผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา พร้อมกล่าวหาว่าข้อมูลที่เปิดเผยในต่างประเทศเป็นเท็จ

รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ได้ปฏิเสธรายงานของสหประชาชาติ โดยอ้างว่า เป็นรายงานฝ่ายเดียวและบกพร่อง และปฏิเสธการตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศที่ระบุว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาสืบสวนวิกฤตโรฮิงญา

ความคิดเห็น

comments