ทุ่ม 2.4 พันล้าน ทำเขื่อนริมคลองลาดพร้าวยาว 24 กม.

นายกังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการรุกล้ำคูคลอง ว่า ขณะนี้รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้พิจารณาอนุมัติงบให้กทม.เร่งดำเนินการก่อสร้างเขื่อนบริเวณคลองลาดพร้าว งบประมาณ 2,400 ล้านบาท ซึ่งกทม.จะเร่งประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนพ.ค.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยจะก่อสร้างเขื่อนทั้ง 2 ฝั่งตลอดแนวคลองระยะทาง 24 กิโลเมตร และความกว้างคลองที่ 38 เมตรตลอดแนวซึ่งคลองลาดพร้าวจะเริ่มจากด้านเหนือของกรุงเทพฯที่บริเวณคลองสองพื้นที่สายไหม มุ่งหน้าลงใต้ผ่านพื้นที่เขตดอนเมือง เขตบางเขนมีชื่อว่าคลองถนน จากนั้นเข้าพื้นที่เขตจตุจักรชื่อคลองบางบัวและเปลี่ยนชื่อคลองลาดพร้าวในพื้นที่เขตห้วยขวาง ลาดพร้าว วังทองหลาง ไปบรรจบที่คลองแสนแสบบริเวณบางกะปิ

นายกังวาฬ กล่าวต่อว่า เมื่อต้องสร้างเขื่อนเพื่อรักษาความกว้างของคลองอยู่ที่ 38 เมตร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำเข้ามาตามแนวคลองดังกล่าว จากการสำรวจเบื้องต้น คลองลาดพร้าวผ่านพื้นที่ 8เขต ได้แก่ เขตห้วยขวางมีบ้านเรือนรุกล้ำ 792 หลัง เขตจตุจักร 1,063 หลัง เขตหลักสี่ 818 หลัง เขตดอนเมือง 279 หลัง เขตสายไหม 1,383 หลัง เขตลาดพร้าว 25 หลัง เขตวังทองหลาง 29 หลัง และเขตบางเขน ซึ่งรวมบ้านรุกล้ำทั้งหมดจำนวนกว่า 3,000หลังคาเรือน มีประชาชนจำนวนกว่า 13,900คน ซึ่งหลังจากนี้กทม.จะดำเนินการประสานกับทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน และให้สำนักงานเขตลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านที่รุกล้ำแนวดังกล่าว เพื่อรื้อย้ายออกจากเขตคลอง ทั้งนี้ในส่วนของการประกวดราคาหาผู้รับเหมานั้นจะว่าจ้างเป็นสัญญาเดียวดำเนินการ และจะให้ลงพื้นที่ได้เลยในจุดที่ไม่มีปัญหาก่อน โดยจะทยอยก่อสร้างและทยอยรื้อย้ายบ้านเรือนไปพร้อมๆ กันเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 4 ปี อย่างไรก็ตามมาตรการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำคูคลองเพื่อเปิดทางน้ำไหลตามนโยบายของรัฐบาลครั้งนี้ ได้เร่งให้กทม.ดำเนินการทั้งหมด 9 คลอง ได้แก่ 1.คลองเปรมประชากร 2.คลองบางเขน 3.คลองสามวา 4.คลองลาดบัวขาว 5.คลองพระยาราชมนตรี 6.คลองบางซื่อ 7.คลองประเวศบุรีรมย์ 8.คลองพระโขนง และคลองลาดพร้าวที่ประเดิมเป็นคลองแรก ทั้งนี้ถือเป็นความกล้าหาญของรัฐบาลชุดนี้ที่กล้าตัดสินใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านหลายรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้จนปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรังมาถึงทุกวันนี้ ทั้งนี้คลองต่างๆถือเป็นพื้นที่สาธารณะ หากมีบ้านเรือนรุกล้ำสร้างสิ่งปลูกสร้างในคลอง กทม.โดยสำนักงานเขตในพื้นที่นั้นๆก็จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมาย ในข้อหาบุกรุกพื้นที่สาธารณะอีกด้วย.

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น