ไทยเสี่ยงแผ่นดินไหวหนักขึ้น ชี้ศูนย์เตือนภัยฯแห่งเดียวไม่พอ แถมล่าช้า

นักวิชาการชี้ไทยเสี่ยงเจอแผ่นดินไหวหนักกว่านี้ จี้คลอด กม. สร้างตึกสูงเกิน 5 ชั้น รองรับแผ่นดินไหว เพิ่มระบบการเตือนภัยที่รวดเร็วแบบญี่ปุ่น มีกว่า 2,000 สถานี ชี้ไทยมีแค่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เตือนภัยล่าช้า เชื่อเกิดเหตุจริงเจ็บตายมากแน่ เผยน้ำท่วม กทม. แนวโน้มรุนแรงขึ้น เร่งรับมือ

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ เสวนาในหัวข้อ “การบริหารจัดการทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ” ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2558 “เชื่อมห่วงโซ่คุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทย” จัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า แม้แผ่นดินไหวที่ภูเก็ตเมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 มี.ค. จะไม่รุนแรง แต่ในอนาคตไทยอาจต้องเจอแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากกว่านี้ การเตรียมตัวรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหามาตรการ โดยเฉพาะการออกกฎกระทรวงเรื่องการสร้างตึกสูง หรือสิ่งปลูกสร้างที่มากกว่า 5 ชั้น ต้องเป็นตึกที่รองรับระบบแผ่นดินไหว มิเช่นนั้น จะทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ส่วน “สึนามิ” ไม่สามารถคาดเดาได้ ที่ต้องทำคือเตรียมตัวรับมือกับภัยสึนามิให้ได้ โดยให้ความรู้ประชาชน คือบรรจุเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ และสร้างระบบการเตือนภัยที่แม่นยำ

ดร.เสรี กล่าวว่า สำหรับน้ำท่วม กทม. จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น โดย กทม. รับมือน้ำฝนได้ 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หากมากกว่านี้จะไม่สามารถรับมือได้ โดยเฉพาะพื้นที่ อโศก อสมท กระทรวงกลาโหม เขตห้วยขวาง บางกะปิ บางรัก สาทร เป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีความน่ากังวล ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาแนวทางรับมือ เหมือนที่หลายประเทศสร้างถนนที่ซับน้ำและระบายน้ำได้ สิ่งที่สำคัญคือผู้ว่าราชการทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือกันถึงการบริหารจัดการน้ำที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยจะต้องไม่ผลักภาระให้จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ที่ปรึกษา สพฉ. กล่าวว่า ปัญหาของไทยคือการเตือนภัย อย่างญี่ปุ่น เมื่อมีแผ่นดินไหวหรือสึนามิ การเตือนภัยจะรวดเร็ว ทำให้การอพยพคนได้เร็ว ลดการสูญเสียได้มาก แต่ขั้นตอนการเตือนภัยของไทย จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังล่าช้า และขั้นตอนยุ่งยาก หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้นจริง เชื่อว่าจะเกิดการสูญเสียจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มวางแผนการป้องกันสาธารณภัยระดับชาติให้ชัดเจนและต้องสร้างระบบการสื่อสารและการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา กล่าวว่า ชาวบ้านยังไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้กันมาก ทำให้ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติมีน้อย ทักษะการเอาตัวรอดจึงน้อยตามไปด้วย ที่อยากเน้นมากที่สุด คือ แผ่นดินไหว เพราะจะเกิดการทำลายล้างอย่างมหาศาลและไม่เลือกฤดูกาล ก่อผลกระทบและความสูญเสียจำนวนมาก ทั้งน้ำท่วม สึนามิ ไฟไหม้ ตึกถล่ม ดังนั้น จะต้องสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้ได้แบบญี่ปุ่น ซึ่งจะมีสถานีวัดระดับแผ่นดินไหวกว่า 2,000 สถานี เทียบเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 7 ของร้านเซเวนอีเลฟเวนทั่วประเทศ ทำให้การเตือนภัยมีประสิทธิภาพ แต่ไทยมีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเพียงแห่งเดียวและขั้นตอนเตือนภัยยังไม่เป็นระบบ

พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติการจัดการเรื่องศพเป็นสิ่งสำคัญ แต่มีประเด็นด้านกฎหมายที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งจากเหตุสึนามิที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดเจนว่ายังไม่มีแผนรองรับสำหรับคนที่เสียชีวิต หลังจากนี้ ต้องทำให้เป็นระบบชัดเจน ทั้งการเคลื่อนย้ายศพกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ต้องทำระบบ GPS system และ body tag หรือป้ายระบุตัวตนของศพให้ชัดเจน เคลือบพลาสติกกันน้ำ อีกทั้งระบบจัดการศพต้องทำในสถานที่ปิดและทำงานง่าย เช่น โรงยิม และไม่ควรลืมการดูแลครอบครัวและให้ข้อมูลกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยต้องแบ่งทีมอย่างชัดเจน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินของคนตายต้องทำอย่างโปร่งใส

สำหรับสถิติผู้เสียชีวิตสูงสุดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแต่ละปีทั่วโลกนั้น ในปี 2010 เกิดแผ่นไหวที่เฮติ ระดับ 7.0 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 316,000 คน ปี 2011 ที่ญี่ปุ่นเกิดแผ่นไหว ระดับ 9.0 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 20,896 คน ปี 2012 เกิดที่ฟิลิปปินส์ 6.7 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 113 คน และปากีสถาน ระดับ 7.7 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 825 คน และในปี 2012 ที่จีน ระดับ 6.2 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 729 คน

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น