ศาลสหรัฐฯสั่งไม่ฟ้อง “นายกฯอินเดีย” ข้อหาเพิกเฉยเหตุจลาจลทำคนตายนับพันศพ

ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สั่งไม่ฟ้องนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ในข้อหาเพิกเฉยต่อเหตุจลาจลที่รัฐคุชราตเมื่อปี 2002 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน เหตุเพราะเป็น “หัวหน้ารัฐบาล” จึงได้รับความคุ้มกันตามกฎหมาย

อนาลิซา ตอร์เรส ผู้พิพากษาศาลแขวงนิวยอร์ก พิพากษาวานนี้(14) ให้ยืนตามคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศที่ระบุว่า โมดี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้รับความคุ้มกัน (immunity) ไม่สามารถถูกดำเนินคดีจากการฟ้องร้องในสหรัฐฯ

เอกสารคำร้องซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งยื่นต่อศาลเมื่อเดือนกันยายน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีอินเดียจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ กลายเป็นประเด็นพาดหัวข่าวทั่วโลก แม้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ชาติจะยืนยันว่าเป็นแค่ความพยายามก่อกวนก็ตาม

โจเซฟ วิททิงตัน ประธานศูนย์กระบวนการยุติธรรมแห่งอเมริกา (American Justice Center) และสมาชิกสภาเมืองฮาร์วีย์ รัฐอิลลินอยส์ ยอมรับว่า แม้มีโอกาสน้อยมากที่จะเอาผิด โมดี แต่ก็ถือเป็นชัยชนะ “เชิงสัญลักษณ์”

บาบัก ปูร์ทาวูซี ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนศูนย์กระบวนการยุติธรรมแห่งอเมริกา รวมถึง วิททิงตัน ยังไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ หลังจากที่ศาลนิวยอร์กประกาศคำพิพากษาเมื่อวานนี้(14)

จี.วี.แอล นรสิงห์ เรา โฆษกพรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ของนายกฯโมดี กล่าวว่า การฟ้องร้องเป็นแค่ความพยายามที่ “ไร้สาระ” ของผู้ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงผู้นำอินเดีย และ “พฤติกรรมเช่นนี้สมควรถูกประณามเหยียดหยาม”

คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาศาลแขวงถูกประกาศ ก่อนที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนแดนภารตะเพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย (Republic Day) 26 มกราคม ตามคำเชิญของ โมดี

การวางเพลิงเผาขบวนรถไฟขนผู้แสวงบุญฮินดูเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2002 ซึ่งไม่ชัดเจนถึงตัวตนผู้ก่อเหตุ แต่เหตุดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อจลาจลทั่วทั้งรัฐคุชราต สังหารชาวมุสลิมไปอย่างน้อย 1,000 คน

โมดี ซึ่งเป็นมุขมนตรีรัฐคุชราตตั้งแต่ปี 2001 มาจนกระทั่งถึงปีที่แล้ว ถูกวิจารณ์ว่าเพิกเฉยต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น และไม่พยายามใช้อำนาจยับยั้งการสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่ โมดี ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้มาโดยตลอด และศาลสูงสุดอินเดียก็ประกาศให้เขาพ้นข้อหาทั้งปวงเมื่อปี 2012

โมดี เคยถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้ตั้งแต่ปี 2005 ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอเมริกันปี 1998 ซึ่งห้ามมิให้ชาวต่างชาติที่พัวพันการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างร้ายแรงเข้าประเทศ แต่หลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งทั่วไปในอินเดียเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดี โอบามา ก็ไม่สนใจต่อประวัติอันชั่วร้าย และเชิญโมดี มาเป็นแขกของทำเนียบขาว

การไปเยือนสหรัฐฯของ โมดี เมื่อปีที่แล้วมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและเดลีซึ่งเสื่อมถอยลงอย่างหนัก จากกรณีตำรวจนิวยอร์กจับกุมนักการทูตหญิง เทพยานี โคบรากาด และ “เปลื้องผ้าค้นตัว” เธอด้วยข้อหาแจ้งข้อมูลวีซาอันเป็นเท็จ และจ่ายเงินเดือนแม่บ้านต่ำกว่าค่าแรงที่กฎหมายสหรัฐฯกำหนด

วิททิงตัน เคยให้สัมภาษณ์ในฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วว่า พลเมืองส่วนหนึ่งในรัฐของเขาเป็นผู้อพยพที่หนีเหตุรุนแรงมาจากรัฐคุชราตเมื่อปี 2002 ทำให้เขาตัดสินใจฟ้องร้องเพื่อเอาผิด โมดี

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังไม่แสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาของศาล ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอินเดียก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเช่นกัน

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น