ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเผยแพร่ “ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2015” ไทยรั้งอันดับ 134

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporter Without Borders – RSF) เผยดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2015 ระบุเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชนอยู่ในขั้น “ตกต่ำอย่างรุนแรง” ช่วงปี 2014 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากภัยคุกคามของกลุ่มติดอาวุธ เช่น ไอเอส และกลุ่มโบโกฮารัมในไนจีเรีย

คริสตอฟ เดอลัวร์ ผู้อำนวยการ RSF ซึ่งมีฐานที่กรุงปารีส ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “เสรีภาพสื่อมวลชนลดลงในภาพรวมด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น การทำสงครามข้อมูล หรือโดยกลุ่มที่มิใช่รัฐซึ่งพยายามทำตัวเป็นคลังข่าว”

ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกประจำปี 2015 อ้างถึงการล่วงละเมิดเสรีภาพสื่อมวลชนรวมทั้งสิ้น 3,719 กรณีใน 180 ประเทศตลอดปี 2014 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 8%

RSF ชี้ว่า กลุ่มต่างๆ ที่พัวพันความขัดแย้งในตะวันออกกลางและยูเครนกำลัง “ทำสงครามข้อมูลกันอย่างดุเดือด” ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวตกเป็นเป้าสังหาร ถูกจับกุม หรือถูกกดดันให้เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ ที่เห็นได้ชัดก็คือกลุ่มไอเอสในอิรัก และซีเรีย, โบโกฮารัมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียและแคเมอรูน รวมไปถึงแก๊งอาชญากรในอิตาลีและละตินอเมริกา ซึ่งพยายาม “สร้างความหวาดกลัวและขู่แก้แค้น เพื่อปิดปากนักข่าวและบล็อกเกอร์ที่เข้าไปขุดคุ้ยเรื่องราว หรือไม่ยอมเป็นกระบอกเสียงให้แก่พวกเขา”

แอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางมี “หลุมดำ” หลายจุด หมายถึง “พื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มบุคคลซึ่งมิใช่รัฐ และการเผยแพร่ข้อมูลอย่างอิสระแทบจะเป็นไปไม่ได้”

RSF ระบุด้วยว่า “ประเทศต่างๆ ราวครึ่งหนึ่งของโลกกำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อผู้ที่ดูหมิ่นศาสนา” ในขณะที่ผู้ศรัทธาหัวรุนแรงบางกลุ่มก็โจมตีนักข่าวหรือบล็อกเกอร์ที่พวกเขามองว่าไม่ให้เกียรติแก่ศาสดา หรือพระเจ้าที่พวกเขาเคารพนับถือ

อิหร่าน จีน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สื่อถูกปิดกั้นเสรีภาพมากที่สุดจากทั้งหมด 180 ประเทศที่ RSF ทำการประเมิน โดยอยู่ในลำดับที่ 173, 176, 177 และ 179 ของโลก

ความพยายามปิดกั้นสื่อในช่วงที่ยูเครนเกิดกระแสลุกฮือขับไล่ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้มีจุดยืนโปรรัสเซีย รวมไปถึงเหตุประท้วงต่อต้านรัฐบาลในตุรกี ทำให้ทั้ง 2 ชาติถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 129 และ 149 ของตาราง ขณะที่ “พฤติกรรมล่วงละเมิดของตำรวจฮ่องกง” ระหว่างการชุมนุมประท้วงอ็อคคิวพายเซ็นทรัลก็ทำให้ดัชนีเสรีภาพสื่อของเกาะฮ่องกงร่วงลงมาอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก

กลุ่มประเทศที่ให้เสรีภาพในการทำงานแก่สื่อมวลชนมากที่สุด 5 อันดับแรกกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคยุโรป ได้แก่ ฟินแลนด์, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ขณะที่นิวซีแลนด์, แคนาดา และเจเมกา ก็ติดอยู่ใน Top 10 ของโลก

สหรัฐฯ ร่วงมาอยู่อันดับที่ 49 ลดลงจากปีก่อนหน้า 3 อันดับ ซึ่ง RSF ชี้ว่าเป็นเพราะวอชิงตันพยายาม “ทำสงครามข้อมูล” กับเว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์และกลุ่มอื่นๆ

รัสเซียหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 152 ของโลก หลังมีการออกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและปิดกั้นเว็บไซต์ ซึ่งทำให้สื่ออิสระแทบจะสูญพันธุ์ไปจากแดนหมีขาว

สำหรับประเทศไทยมีดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนอยู่ในลำดับที่ 134 ของโลก รั้งอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากบรูไน (121) ตามมาด้วยอินโดนีเซีย (138) กัมพูชา (139) ฟิลิปปินส์ (141) พม่า (144) มาเลเซีย (147) สิงคโปร์ (153) ลาว (171) และเวียดนาม (175)

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น