มาเลเซีย และอินโดนีเซียระบุวันนี้ (20) ว่า จะไม่ผลักดันเรือผู้อพยพอีก พร้อมกับประกาศที่จะรับคลื่นมนุษย์เรือไว้ในประเทศเพื่อดูแลเบื้องต้น 1 ปี ก่อนช่วยเหลืพวกเขาในการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม หรือกลับประเทศต้นทาง
“การลากเรือ และการผลักดันเรือจะไม่เกิดขึ้นอีก” นายอานิฟา อามาน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับ นางเรตโน่ มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย หลังการหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
“เราเห็นพ้องกันที่จะจัดหาที่พักชั่วคราวให้ผู้อพยพ ที่กระบวนการตั้งถิ่นฐาน และการส่งกลับจะเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี โดยประชาคมระหว่างประเทศ” อานิฟา กล่าว
การหารือในมาเลเซียครั้งนี้ยังรวมทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย แต่ไม่ได้อยู่ร่วมในการแถลงข่าว เนื่องจากต้องปรึกษากับทางรัฐบาลเสียก่อน อานีฟะห์ แถลง
“ในเวลานี้ มาเลเซีย และอินโดนีเซียขอเชิญให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเข้าร่วมในความพยายามครั้งนี้” อานิฟา กล่าว
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้อพยพราว 3,000 คน ได้ขึ้นฝั่ง หรือได้รับการช่วยเหลือนอกชายฝั่งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย หลังการปราบปรามของไทยทำให้ผู้ค้ามนุษย์ทิ้งเหยื่อไว้กลางทะเล
อานิฟา กล่าวว่า หน่วยข่าวกรองของมาเลเซียประเมินว่า จำนวนคนที่ยังติดอยู่กลางทะเลมีประมาณ 7,000 คน และข้อเสนอที่พักนี้มีให้เฉพาะต่อคนที่อยู่ในทะเลตอนนี้เท่านั้น
ในช่วงเช้าวันนี้ (20) มีผู้อพยพอีก 433 คน ได้รับการช่วยเหลือนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย ชาวประมงท้องถิ่นที่ช่วยชีวิตผู้อพยพไว้ระบุว่า หลายคนอยู่ในสภาพเลวร้ายจากความทุกข์ยากกลางทะเล และบางส่วนเสียชีวิตจากความอดอยาก
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพียืนยันว่า เรือที่พบเป็นลำเดียวกับที่ล่องไปมาระหว่างน่านน้ำไทยและมาเลเซียในช่วงไม่กี่วันมานี้ ซึ่งภาพของผู้ลี้ภัยที่อัดแน่นมาเต็มลำเรือได้สร้างความสะเทือนใจต่อคนทั่วโลก
“ผู้อพยพเหล่านั้นร่างกายอ่อนแอ หลายคนกำลังป่วย พวกเขาบอกผมว่า เพื่อนที่มาด้วยกันหิวตายไปหลายคนแล้ว” เตอูกู นยัก อิดรุส ชาวประมงท้องถิ่นที่เข้าช่วยเหลือชาวโรฮีนจากลุ่มนี้ ให้สัมภาษณ์
เจ้าหน้าที่กู้ภัยเผยเพิ่มเติมว่า ในบรรดาผู้อพยพที่ได้รับความช่วยเหลือวันนี้(20) มีผู้หญิง 26 คน และเด็กอีก 30 คน
อานีฟะห์ และ มาร์ซูดี ระบุในคำแถลงร่วมว่า ปัญหาคลื่นผู้อพยพจากอ่าวเบงกอลจะต้องแก้ไขที่ “ต้นตอ” ทว่าไม่ได้ชื่อประเทศใดอย่างเฉพาะเจาะจง พร้อมแนะให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ทั้ง 10 ประเทศจัดประชุมฉุกเฉิน เพื่อหาทางออกแก่วิกฤตการณ์ครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พม่าอ้างพร้อมช่วยผู้อพยพทางเรือหลังถูกนานาชาติกดดันหนัก
“ดอน” กล่อม “เมียนมา” ถกแก้โรงฮิงญา พม่าลั่นพร้อมรับกลับหากพิสูจน์สัญชาติไทย
พม่าเริ่มสั่งรัฐบาลยะไข่สร้างงานให้โรฮิงญาสกัดค้ามนุษย์