ผู้นำอิสราเอลประณามสมัชชาสหประชาชาติ กรณีลงมติเพื่อขอศาลโลกให้ความเห็น เกี่ยวกับ “การยึดครอง” ของอิสราเอล “บนดินแดนของปาเลสไตน์”

เมื่อวันที่ 1 มมกราคม นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล กล่าวถึงการที่สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือ ศาลโลก เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ผลกระทบทางกฎหมาย” จากการยึดครองและการเดินหน้าขยายอาณาเขตของอิสราเอลบนดินแดนของปาเลสไตน์ ว่า UNGA “เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่บิดเบือนความจริง”

ขณะเดียวกัน เนทันยาฮู ซึ่งเพิ่งกลับมารับตำแหน่งผู้นำอิสราเอล เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว กล่าวว่า รัฐบาลของเขาไม่มีทางยอมรับมติดังกล่าวของ UNGA เนื่องจาก “ชนชาติยิวจะเป็นผู้ยึดครองดินแดนที่เป็นของตนเองได้อย่างไร” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาณาเขตทั้งหมดของนครเยรูซาเลม” ซึ่งถือเป็น “เมืองหลวงของอิสราเอล”

ด้านองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ยินดีกับมติดังกล่าวของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) โดยยกย่องท่าทีของประเทศต่างๆ ที่ “ยืนยันความมุ่งมั่นต่อกฎหมายระหว่างประเทศและสอดคล้องกับจุดยืนทางประวัติศาสตร์” ต่อการสนับสนุนประเด็นปัญหาของชาวปาเลสไตน์

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาตินำเสนอรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อมติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2566

โดยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวราว 666,000 คนอาศัยอยู่ในการตั้งถิ่นฐาน 145 แห่งบนดินแดนปาเลสไตน์ และที่ตั้งถิ่นฐานเถื่อนตามกฎหมายอิสราเอลอีก 140 แห่ง (ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอิสราเอล) ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง รวมถึงเยรูซาเล็มตะวันออก ตามรายงานของ Israeli Peace Now NGO

ขณะที่ในข้อเท็จจริงศาลโลกเคยมีความเห็นเกี่ยวกับการยึดครอง และขยายอาณาเขตของอิสราเอลมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2547 ว่า การที่อิสราเอลจัดตั้งแนวกั้นระหว่างพรมแดนนั้นเป็นสิ่งที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่คำตัดสินดังกล่าวไม่มีผลในทางปฎิบัติเนื่องจากแนวกั้นพรมแดนดังกล่าวยังคงมีอยู่จนปัจจุบัน

ทั้งนี้ อิสราเอลที่มีชาติตะวันตกให้การสนับสนุนได้ยึดครองเขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา และฝั่งตะวันออกของนครเยรูซาเลม หลังชนะสงครามหกวัน เมื่อปี 2510 แม้ถอนทหารออกจากฉนวนกาซา เมื่อปี 2548 แต่จนถึงปัจจุบัน อิสราเอลยังคงควบคุมพรมแดนฉนวนกาซาและจุดผ่านแดนส่วนที่ติดกับอียิปต์ไว้

มติดังกล่าวของ UNGA ได้รับความสนับสนุนด้วยเสียงข้างมาก 87 เสียง งดออกเสียง 53 เสียง หนึ่งในนั้นคือไทย และคัดค้าน 26 เสียง โดยประเทศที่ออกเสียงไม่เห็นด้วย รวมถึงสหรัฐและอิสราเอล

ขณะที่ นายริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ กล่าวถึงการลงมติครั้งนี้ “คือชัยชนะทางการทูต” สำหรับปาเลสไตน์

ความคิดเห็น

comments

By admin