ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 5 ครอบครัวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในอุรุกวัยเมื่อปีที่แล้ว ออกมาชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงมอนเตวิเดโอเมื่อวันจันทร์ (7 กันยา) โดยขอให้ทางการอุรุกวัยส่งพวกเขาไปยังประเทศอื่นที่มีโอกาสได้งานดีๆ หรือไม่ก็ส่งกลับไปตะวันออกกลางเสียยังจะดีกว่า
ครอบครัวชาวซีเรียซึ่งมีเด็กกว่า 30 คน ได้รับอนุญาตให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในอุรุกวัยเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2014 แต่แล้วกลับพบว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ว่าจะหางานรายได้ดีให้ทำ
“ผมไม่กลัวที่จะต้องกลับไปเลบานอน” อัลดีส มาเฮอร์ วัย 36 ปี ซึ่งเคยพาครอบครัวหนีออกจากซีเรียข้ามแดนไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยฝั่งเลบานอน กล่าว
“ผมอยากไปอยู่ในประเทศที่มั่นใจได้ว่า ผมและครอบครัวจะอยู่รอด”
เสียงเรียกร้องของชาวซีเรียกลุ่มนี้มีขึ้น ในขณะที่สหภาพยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตจากคลื่นผู้อพยพนับแสนที่หนีตายมาจากซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน และเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า นอกจากจะให้ที่พักพิงแล้ว รัฐบาลแต่ละชาติยังต้องหาวิธีช่วยประคับประคองผู้ลี้ภัยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมใหม่ได้
อุรุกวัยเป็นรัฐทางโลกที่มีพลเมืองมุสลิมอยู่เพียงราวๆ 300 คน แม้ผู้ลี้ภัยจากซีเรียจะได้รับทั้งที่พักอาศัย บริการสาธารณสุข การศึกษา และเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ทว่าพวกเขายังคงปัญหาในการดำรงชีพ
“ผมไม่มีงานที่จะได้เงินพอเลี้ยงดูครอบครัว ก่อนเราจะมาอยู่ที่นี่ ทางสถานทูตบอกว่าเราจะมีรายได้ถึง 1,500 ดอลลาร์ต่อเดือน” มาเฮอร์ กล่าว พร้อมยืนยันว่าจะปักหลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีไปเรื่อยๆ จนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง
ผู้ลี้ภัยซีเรียกลุ่มนี้ถือหนังสือเดินทางถูกกฎหมายและสามารถไปได้ทั่วโลก แต่ในทางปฏิบัติพวกเขากลับถูกหลายๆ ชาติห้ามเข้าประเทศ
มาเฮอร์ เคยพาครอบครัวย้ายไปยังตุรกี แต่ไปติดอยู่ที่สนามบินอิสตันบูลนานถึง 20 วันเนื่องจาก ตม. ตุรกีไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ ท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้องหันหน้ากลับไปยังอุรุกวัยอีกครั้ง
จาเวียร์ มิรันดา หัวหน้าสำนักเลขาธิการประธานาธิบดีอุรุกวัยฝ่ายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “ถ้าพวกเขาไม่อยากอยู่ก็ไปได้เลย แต่ประเทศอื่นจะรับพวกเขาหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลอุรุกวัย”
หญิงสาวซีเรียวัย 22 ปีที่ชื่อ ซานา ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่รัฐบาลอุรุกวัยปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ลี้ภัยทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกหลอก
“ความเป็นอยู่ที่นี่ไม่เหมือนกับที่พวกเขาบอกเราเลย เราไม่ต้องการอยู่อีกต่อไปแล้ว”
ทั้งนี้ คาดว่าก่อนสิ้นปีจะมีผู้ลี้ภัยซีเรียเดินทางเข้าไปถึงอุรุกวัยอีก 80 คน