สหรัฐฯขายโดรนติดอาวุธให้อินเดีย ประจำการสู้โดรนจีนของปากีสถาน

อินเดียกำลังจะกลายเป็นหนึ่งในหลายๆชาติแรกที่กำลังจะมีโดรนติดอาวุธ พรีเดเตอร์ เอเวนเจอร์ โดรนจากบริษัทพัฒนาอาวุธสหรัฐฯ เจนเนอรัล อตอมมิกส์ แอโรนอติคัล ซิสเต็มส์ อิงก์ (General Atomics Aeronautical Systems Inc.) ไว้ในประจำการ ที่อยู่ในระหว่างการรออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อนำมาใช้ประจำการเพิ่มเขี้ยวเล็บข่มปากีสถานที่ใช้โดรนจากจีน

บลูมเบิร์ก รายงานเมื่อวันอังคาร(10 พฤศจิกายน)ว่า รัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีกำลังอยู่ในระหว่างการรอคำอนุมัติสัญญาการซื้ออากาศยานไร้คนขับประเภทติดอาวุธ พรีเดเตอร์ เอเวนเจอร์ โดรน ที่พัฒนาจากบริษัทเจนเนอรัล อตอมมิกส์ แอโรนอติคัล ซิสเต็มส์ อิงก์ (General Atomics Aeronautical Systems Inc.)เพื่อไว้ใช้ในประจำกองทัพอินเดียในการลาดตระเวนพรมแดน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ปากีสถานประเทศประเทศพรมแดนติดกันที่ยังอยู่ในภาวะสงครามได้ประจำการโดรนติดอาวุธที่คาดว่าเป็นโดรนที่ถูกพัฒนาในจีน

โดรนพิฆาต “พรีเดเตอร์ เอเวนเจอร์ โดรน” นี้มีรูปทรงเพรียวลม รวดเร็ว และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องจักรสังหาร ซึ่งเหมาะที่ทางกองทัพอินเดียจะนำมาเพื่อใช้ล่ากลุ่มติดอาวุธที่ข้ามพรมแดนปากีสถาน รวมไปถึงจะกลายเป็นยุทโธปกรณ์ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญในบริเวณเขตแดนพิพาทอินเดียและจีน

และหากทางรัฐบาลสหรัฐฯเปิดไฟเขียวอนุญาตการสั่งซื้อของโมดี จะถือเป็นอีกขั้นในการกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างสหรัฐฯและอินเดีย ซึ่งอินเดียถือเป็นลูกค้าที่สั่งซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารจากสหรัฐฯมากเป็นอันดับ 2 ในปี 2014 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจจากที่ไม่มีคำสั่งซื้อเลยเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้

และนอกจากนี้พรีเดเตอร์ เอเวนเจอร์ โดรน ยังถือเป็นสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคที่มี 3 ประเทศยักษ์ใหญ่นิวเคลียร์ประจันหน้า และประชากร 40% ของทั่วโลกทั้งหมด

“ที่จริงแล้วถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจในความสัมพันธ์แบบก้าวกระโดดระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ” ซีโมน เวเซแมน(Siemon Wezeman) นักวิจัยประจำสถาบัน สต็อกโฮล์ม อินเตอร์เนชันแนล พีซ รีเสิร์ช ( Stockholm International Peace Research Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังเกตการณ์การเคลื่อนย้ายอาวุธทั่วโลก

เขากล่าวอีกว่า “และไม่กี่ปีที่ผ่านมาอินเดียได้ตอบรับอาวุธและเทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐฯ และอเมริกาได้กลายเป็นผู้ป้อนเทคโนโลยีล้ำหน้าทางการรบให้กับอินเดีย”

บลูมเบิร์กรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ออกถลงการณ์สนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของอินเดียต่อองค์กร Missile Technology Control Regime (MTCR) ซึ่งเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับประเทศที่ต้องการสั่งซื้อโดรนล่าสังหารจากสหรัฐฯ และสองวันถัดจากนั้นกองทัพอากาศอินเดียได้ส่งจดหมายคำสั่งซื้อโดรนพิฆาตไปยังบริษัทพัฒนาอาวุธสหรัฐฯ เจนเนอรัล อตอมมิกส์ แอโรนอติคัล ซิสเต็มส์ อิงก์ ที่มีฐานอยู่ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งบลูมเบิร์กระบุว่าได้เห็นจดหมายขอซื้อฉบับนี้แล้ว

บลูมเบิร์กชี้ว่า การเพิ่มศักยภาพของกองทัพอินเดียด้วยโดรนติดอาวุธ จะยิ่งทำให้ความตรึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานมีมากยิ่งขึ้น ซึ่งต่างเคยทำสงครามมาถึง 4 ครั้งในอดีต และยังกลายเป็นประเทศที่สะสมอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในความครอบครองอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา

ซึ่ง “พรีเดเตอร์ เอเวนเจอร์ โดรน” สามารถบินได้นานติดต่อกันถึง 18 ชั่วโมง และสามารถบรรทุกกระสุนหรือจรวดมิสไซล์ได้ถึง 3,500 ปอนด์ และสามารถบินได้ในระดับเพดานบินสูงสุดที่ 50,000 ฟุต

“โดรนสามารถเข้าไปได้ทุกที่ในปากีสถานนั้นสามารถทำให้เกิดความตรึงเครียดอย่างมากขึ้นได้” พลโท ทาลัต มาซุด (Talat Masood) นายทหารนอกราชการจากกองทัพปากีสถาน และนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงที่มีฐานในกรุงอิสลามาบัด ปากีสถาน ให้ความเห็น

ซึ่งในปัจจุบันนี้ โดรนที่อินเดียใช้ส่วนใหญ่เป็นโดรนตรวจการที่ได้รับการพัฒนามาจากอิสราเอล และมีการคาดการณ์ว่าหากมีโดรนติดอาวุธเข้าประจำการ อินเดียจะสามารถใช้โดรนติดอาวุธในการจู่โจมข้ามเข้าไปในปากีสถานได้ และไม่เป็นการเสี่ยงต่อการสูญเสียกำลังพลเหมือนเช่นในการใช้อากาศยานรบประเภทมีคนขับ

ด้าน มานโมฮัน บาฮาดูร์ (Manmohan Bahadur) นายทหารนอกราชการ และนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงประจำสถาบัน Centre for Air Power Studies ในกรุงนิวเดลี อินเดีย ได้ให้ความเห็นว่า “หลังจากที่กลุ่มที่เป็นปฎิปักษ์ในทั้งสองฝั่งรับรู้ว่า มีสิทธิ์ถูกตามล่าทางอากาศ และทางกองทัพอินเดียไม่มีปัญหาต้องกังวลในเรื่องนักบินอาจโดนสอย นั้นเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน”

แต่อย่างไรก็ตาม บาฮาร์ดูร์ได้ย้ำว่า ไม่ใช่ว่าทางกองทัพอินเดียจะใช้โดรนติดอาวุธอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด “ท้องฟ้าเหนือเขตชายแดนเป็นสิ่งที่เรากำลังพูดถึง”

ขณะนี้ปากีสถานมีโดรนติดอาวุธใชเประจำการอย่างน้อยเพียง 1 เครื่อง ที่คาดว่าจะถูกพัฒนาในจีน แต่ศักยภาพในการใช้งานนั้นไม่สามารถสู้กับโดรนพิฆาตของบริษัทเจนเนอรัล อตอมมิกส์ แอโรนอติคัล ซิสเต็มส์ อิงก์

แต่อย่างไรก็ตาม การอนุญาตในคำสั่งซื้อโดรนนั้นดูเหมือนจะไม่สามารถทำการอนุมัติได้ในเร็ววันนี้ เพราะในการให้สัมภาษณ์ของ วิเวก ลอล์ (Vivek Lall)ซีอีโอบริษัทเจนเนอรัล อตอมมิกส์ แอโรนอติคัล ซิสเต็มส์ อิงก์ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้ระบุว่า “ทางบริษัทต้องการเดินหน้าที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯและรัฐบาลอินเดียในการให้การสนับสนุนทางด้านการป้องกันประเทศตามที่ได้ร้องขอ” ซึ่งขั้นตอนการสั่งซื้อโดรนติดอาวุธสหรัฐฯนั้นนอกจากที่อินเดียต้องได้เป็นสมาชิก MTCR แล้ว ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯต้องพิจารณาการอนุญาตข้อตกลงการซื้อขายนี้ก่อน ก่อนที่จะแจ้งไปยังรัฐสภาสหรัฐฯเพื่ออนุญาติต่อไป

และที่สำคัญในนโยบายการเคลื่อนย้ายอาวุธของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯในปีนี้ ทางกระทรวงให้ความสำคัญในการพิจารณาสัญญาการซื้อขายอากาศยานติดอาวุธไร้คนขับ โดยต้องการให้ประเทศผู้สั่งซื้อต้องใช้โดรนภายใต้กรอบบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ

ความคิดเห็น

comments