สธ.ยันไวรัสซิกาไม่ใช่เรื่องใหม่ของไทย แต่พบน้อยคุมได้

วันอังคาร (2 กุมภาพันธ์) เมื่อเวลา 14.00 น. นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ว่า ไวรัสซิกาไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพบครั้งแรกที่ประเทศยูกานดา เมื่อปี 2490 ส่วนประเทศไทยพบร่องรอยของโรคเมื่อปี 2506 แต่พบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อปี 2555 เป็นต้นมา โดยเจอเฉลี่ยเพียง 2 – 5 รายเท่านั้น การที่พบผู้ป่วยจากไวรัสซิกาในโรงพยาบาลต่าง ๆ จึงไม่ถือว่ามาก ที่สำคัญคือ ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย ประชาชนจึงไม่ต้องห่วงว่าจะมีการนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะมีการพบผู้ป่วยโรคนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อาการผู้ป่วยจะหายเองได้ นอกจากนี้ การเจอผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่สะท้อนถึงระบบเฝ้าระวังที่สามารถตรวจจับได้และมีการรายงาน โดยไม่มีการปกปิดข้อมูล

นพ.อำนวย กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา คือ 1. เน้นการกำจัดตัวยุงลายซึ่งเป็นพาหะของเชื้อและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าจะดำเนินการอย่างจริงจังทั้งประเทศ ซึ่งการกำจัดยุงลายจะช่วยควบคุม 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายชิคุนกุนยา 2. ให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด และ 3. เฝ้าระวังใน 4 ด้าน คือ ทางระบาดวิทยา โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ทางกีฏวิทยา ผู้ป่วยมีไข้ออกผื่นเป็นกลุ่มก้อน โดยให้มีการสอบสวนโรคว่ามีการติดไวรัสซิกาหรือไม่ กลุ่มทารกที่มีศีรษะเล็ก และผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ ขณะที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศจะตรวจเข้มผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดมากด้วย สำหรับผู้ป่วยที่พบใน รพ.ภูมิพล ยืนยันว่า ไม่ใช่รายแรกของประเทศไทย ส่วนผู้ป่วยที่เคยพบก่อนหน้านั้นมีทั้งผู้ป่วยที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดและผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อในประเทศ

พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพล กล่าวถึงกรณีตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในโรงพยาบาล ว่า คนไข้ที่เจอเป็นผู้ชาย มาด้วยอาการไข้ออกผื่น ซึ่งจากการตรวจเลือดก็พบว่าเป็นไวรัสซิกา ก็ได้รายงานมายัง สธ. ซึ่งได้รับคำแนะนำในการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด โดยมีการทำลายยุงลายพาหะ รวมถึงมีการจัดทำแผ่นพับให้คำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์ด้วย เพราะไวรัสจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อตอนตั้งครรภ์ช่วง 12 สัปดาห์แรก แต่ไทยยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ สำหรับผู้ป่วยรายดังกล่าวรักษาหายและออกจากโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยดังกล่าวไม่มีประวัติเดินทางออกนอกประเทศหรือไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดแต่อย่างใด

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกานั้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2490 ในแถบทวีปแอฟริกา และมีการระบาดออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงทวีปอเมริกาด้วย อย่างประเทศบราซิล พบผู้ป่วยประมาณ 5 ล้านคน โดยพบว่าเด็กแรกคลอดมีปัญหาสมองเล็กถึง 3,000 คน คือ อัตรา 20 ต่อทารกหมื่นคน จากเดิมที่พบเพียง 0.5 ต่อทารกหมื่นคน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นหลายเท่า เลยมีการศึกษาว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยง สหรัฐอเมริกาจึงประกาศไม่ให้คนตั้งครรภ์เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งนี้ อาการของโรคซิกาจะคล้ายกับไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย จึงต้องพัฒนาการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ให้สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน ซึ่งแล็บหลายแห่งที่เป็นมาตรฐานสามารถทำได้ ส่วนกรณีพบผู้ป่วยที่ รพ.ภูมิพล ไม่อยากให้ตื่นตระหนก แต่อยากเป็นการเตือนประชาชนว่าจะต้องร่วมมือกันในการกำจัดยุงลาย

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมฯ ได้มีการประสานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้เฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีศีรษะเล็กด้วย ซึ่งกำลังดำเนินการว่ามีความผิดปกติอย่างไร เกี่ยวพันอย่างไรกับไวรัสซิกา เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการศึกษามาก่อน และขอให้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยดูอาการด้านปลายประสาทอักเสบว่ามีความเชื่อมโยงกับไวรัสซิกาอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามถึงเชื้อไวรัสซิกาในยุงลายในประเทศไทย นพ.อำนวย กล่าวว่า อยู่ในระหว่างการศึกษาทางระบาดวิทยา ว่า มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม สธ. ได้ออกประกาศเพิ่มอีก 2 ฉบับ คือ ประกาศ สธ. เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ โดยระบุว่า อาการสำคัญ ได้แก่ มีอาการไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง บางรายอาจมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย โดยทั่วไปจะมีอาการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ และประกาศ สธ. เรื่องเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อต้องแจ้งความ ระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่ต้องแจ้งความ นอกจากนี้ ยังตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้ โดยจะมีการประชุมทางไกลร่วมกับเครือข่ายนักระบาดวิทยาภาคสนามของภูมิภาคอาเซียนบวก 3

เมื่อถามว่า คนตั้งครรภ์สามารถตรวจเชื้อไวรัสซิกาได้หรือไม่ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า คงบอกไม่ได้ เพราะหากตรวจเลือดพบแอนติบอดีก็จะมีความคาบเกี่ยวกับไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบเจอี การจะตรวจทำได้ก็เมื่อผู้ป่วยแสดงอาการ คือ มีไข้ออกผื่น ตาแดง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ก็สามารถเจาะน้ำคร่ำไปตรวจได้ว่ามีการติดเชื้อในทารกหรือไม่

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคซิกาอาการจะเป็นน้อยมาก สามารถหายได้เองใน 7 วัน มีน้อยมากที่ต้องมารักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งการระบาดหลายล้านคนในบราซิลก็เป็นรูปแบบนี้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำนวนคนป่วยที่มาก แต่เป็นเพราะกระทบต่อความพิการในเด็กคือทารกแรกคลอดสมองเล็ก

ความคิดเห็น

comments