UNICEF เผยมีเด็กเกือบ 50 ล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่น เพราะความขัดแย้ง

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เผยมีเด็กๆ เกือบ 50 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิด เนื่องจากภัยสงครามและความขัดแย้งในประเทศของตน

“ภาพของเด็กบางคน เช่น อัยลัน กุรดี ที่ถูกคลื่นซัดมาเกยชายหาดหลังจากเรือผู้อพยพล่ม หรือใบหน้าที่เปรอะเปื้อนเลือดของ ออมรัน ดักนีช ที่ถูกพาขึ้นรถพยาบาลหลังจากที่บ้านของเขาถูกทำลาย สร้างความตกตะลึงให้แก่คนทั่วโลก” แอนโทนี เลค ผู้อำนวยการกองทุนฉุกเฉินสำหรับเด็กแห่งสหประชาชาติ ระบุในคำแถลงวันพุธ (7 กันยายน)

“ทว่าเด็กแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ล้วนเป็นตัวแทนเด็กๆ ทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตราย และกระตุ้นให้เรามีเมตตาสงสารต่อเด็กทุกคนที่ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกัน”

จากการศึกษาข้อมูลทั่วโลก UNICEF พบว่ามีเด็กถึง 28 ล้านคนที่ต้องละทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีความรุนแรงและความขัดแย้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยเด็กราว 10 ล้านคน

เยาวชนราว 1 ล้านคนยังรอการขอสถานะผู้ลี้ภัย และอีก 17 ล้านคนที่ต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศ โดยไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือบริการฉุกเฉิน

เด็กอีก 20 ล้านคนจำเป็นต้องทิ้งบ้านด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น ถูกแก๊งอันธพาลรังควาน หรือหนีความยากจน เป็นต้น

“เด็กๆ ส่วนใหญ่เสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดหรือกักกัน เนื่องจากพวกเขาเป็นบุคคลไร้ทะเบียน ไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน และยังไม่มีระบบใดๆ ที่จะติดตามสวัสดิภาพของพวกเขา เด็กเหล่านี้คือประชากรที่ตกเป็นเหยื่อช่องโหว่ทางกฎหมาย” UNICEF แถลง

t1221

หน่วยงานเพื่อเด็กของยูเอ็นยังพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่เดินทางข้ามพรมแดนด้วยตนเอง โดยในปีที่แล้วมีผู้เยาว์กว่า 100,000 คนที่ปราศจากผู้ปกครองดูแลยื่นขอลี้ภัยใน 78 ประเทศ เพิ่มจากสถิติปี 2014 ถึง 3 เท่าตัว

UNICEF ยังชี้ให้เห็นถึง “ความไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ” ในแง่สัดส่วนผู้ลี้ภัย เนื่องจากเด็กคิดเป็นประชากรเพียง 1 ใน 3 ของโลก ทว่ามีจำนวนถึง “ครึ่งหนึ่ง” จากบรรดาผู้ลี้ภัยทั้งหมด

ในปี 2015 ผู้ลี้ภัยเด็กราว 45% ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเป็นเด็กจากซีเรีย และอัฟกานิสถาน

UNICEF เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหยุดกักขังเด็กที่ต้องการอพยพหรือขอสถานะผู้ลี้ภัย, ไม่แยกคนในครอบครัวออกจากกัน และอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเด็กสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตลอดจนส่งเสริมนโยบายยุติความเกลียดชังทางเชื้อชาติ การแบ่งแยกกีดกัน และกระบวนการทำให้เป็นคนชายขอบ (marginalization)

ความคิดเห็น

comments