เจ้าของโนเบลร่วมผู้นำโลก ร้อง UNSC เร่งแก้ปัญหาโรฮิงญา

เจ้าของรางวัลโนเบล นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวรวม 23 คน ที่รวมทั้งอาร์คบิชอปเดสมอนด์ ตูตู และมาลาลา ยูซุฟไซ ได้ร่วมกันเรียกร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้เข้ายุติก่อนจะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติขึ้นในรัฐยะไข่ของพม่า พร้อมระบุซูจีล้มเหลวในการแก้ปัญหา

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ระรอกล่าสุด ส่งผลให้ประชาชนอย่างน้อย 86 คน เสียชีวิตในการปราบปรามทางทหารในรัฐยะไข่ ที่เริ่มดำเนินการหลังเกิดเหตุโจมตีด่านตำรวจใกล้ชายแดนบังกลาเทศในวันที่ 9 ตุลาคม

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ ประชาชนมากกว่า 34,000 คน หลบหนีความรุนแรงข้ามแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ ขณะที่บ้านเรือนประชาชนหลายหมู่บ้านถูกเผาทำลาย สตรีถูกข่มขืน เรียกเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลของนางอองซาน ซูจีดำเนินการช่วยเหลือชาวโรฮิงญาน้อยเกินไป

ในจดหมายเปิดผนึกที่ยื่นถึงคณะมนตรีความมั่นคงโดย เจ้าของรางวัลโนเบล 13 คน นักการเมือง และนักเคลื่อนระดับโลกอีก 10 คน ที่รวมทั้งโจเซ่ รามอส ฮอร์ตา และมูฮัมหมัด ยูนุส ระบุว่า โศกนาฏกรรมของคนจำนวนมากในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติกำลังปรากฎออกมาให้เห็นในพม่า

“ถ้าเราล้มเหลวที่จะดำเนินการ ผู้คนอาจสิ้นลมเพราะความอดอยากแม้รอดจากลูกกระสุน” ข้อความในจดหมายเปิดผนึก ระบุ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่ามีลักษณะเฉกเช่นเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2537 ในรวันดา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดินแดนดาร์ฟูร์ ในบอสเนีย และโคโซโว

ผู้ร่วมลงนามทั้ง 23 คน ในจดหมายระบุว่า แม้ว่ากลุ่มชาวโรฮิงญาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีวันที่ 9 ตุลาคม แต่การตอบโต้ของกองทัพนั้นไม่สมดุลอย่างเลวร้าย

“สิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นการหาตัวผู้ต้องสงสัย สอบปากคำพวกเขาและนำตัวขึ้นพิจารณาคดี แต่กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ปล่อยเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธโจมตีพลเรือน ข่มขืนผู้หญิง และโยนเด็กทารกเข้ากองไฟ”

รัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ตามที่ถูกเผยแพร่ทางสื่อต่างประเทศ และ NGO ที่ระบุว่ากองกำลังทหารพม่าดำเนินการในการเผาบ้านเรือนประชาชน ข่มขืนหญิงสาว และเข่นฆ่าผู้คน จนทำให้ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 34,000 คนหลบหนีเข้าบังกลาเทศ

โฆษกประธานคณะมนตรีความมั่นคงยืนยันว่าได้รับจดหมายที่ยังระบุถึงความผิดหวังต่อนางอองซานซูจี ที่ไม่รับรองสิทธิความเป็นพลเมืองต่อชาวโรฮิงญา

“เรารู้สึกผิดหวังว่าซูจีไม่ได้ดำเนินการริเริ่มใดๆ ที่จะรับรองสิทธิพลเมืองอย่างสมบูรณ์และเท่าเทียมของชาวโรฮิงญา” จดหมายระบุ

“ซูจี เป็นผู้นำ และเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบหลัก ที่ต้องมีความกล้าหาญในความเป็นมนุษย์ และความเมตตา”

จดหมายเปิดผนึกยังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายกเลิกข้อจำกัดทั้งหมดเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ และร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงเพิ่มวิกฤตโรฮิงญาเป็นวาระการประชุมในสถานะเรื่องเร่งด่วน และเรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาติเดินทางเยือนพม่า

Azeem Ibrahim จากศูนย์นโยบายโลก บอกกับอัล-ญะซีเราะห์ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถูกประณามจากเพื่อนผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวนมาก

“นี่เป็นจดหมายประวัติศาสตร์ เราไม่เคยเห็นผู้นำรางวัลโนเบลคนใด ถูกประณามจากผู้ได้รับรางวัลเดียวกันคนอื่นมากขนาดนี้” Ibrahim กล่าว

“ผมคิดว่าจดหมายฉบับนี้เกิดขึ้นจากความยุ่งยากในการเรียกร้องของนักเคลื่อนไหวทั่วโลกต่ออองซาน ซูจี ในความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์แม้มีโอกาสมากมายอยู่กับเธอ” เขาระบุ

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีจดหมายลักษณะเช่นนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล 7 คน ออกมาระบุว่า นางอองซาน ซูจี จริงๆ แล้วเธอเป็นประธานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

Ibrahim ยังระบุว่านางซูจี ล้มเหลวในการแสดงออกถึงการรับรู้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา และยังช่วยเติมเชื้อไฟซ้ำเติมปัญหา

“ในหลายโอกาสที่เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวอชิงตันโพสต์ หรือ BBC เธอปฎิเสธที่จะใช้คำว่าโรฮิงญา” Ibrahim กล่าว

“แต่เธอกลับอธิบายว่าพวกเขาเป็นมุสลิมยะไข่ หรือแบงกาลี ในการกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาคือผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ”

ชาวโรฮิงญาถูกแช่แข็งอยู่นานนับปีภายใต้กความยากจน และการเลือกปฎิบัติ จากรัฐบาลที่ปฎิเสธที่จะยอมรับว่าพวกเขาคือพลเมืองของตน

ขณะที่รัฐบาลบังกลาเทศก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการเรียกร้องให้เปิดชายแดนรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกมาจากพม่า แต่รัฐบาลบังกลาเทศได้ตั้งคำถามกลับว่าควรที่จะเรียกร้องให้พม่ายุติการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวโรฮิงญามากกว่า ขณะมีการลาดตระเวนทางน้ำเข้มงวดของทั้งสองประเทศ โดยล่าสุดมีชาวประมงบังกลาเทศระบุว่าถูกยามชายฝั่งของพม่ายิงได้รับบาดเจ็บด้วย

ความคิดเห็น

comments