บังกลาเทศชี้รับกลับโรฮิงญา เป็นโฆษณาของพม่า

รัฐบาลบังกลาเทศและหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติต่างตั้งคำถาม หลังพม่าอ้างว่าได้รับครอบครัวชาวโรฮิงญาที่มีสมาชิก 5 คน กลับประเทศ ทั้งที่รัฐบาลบังกลาเทศ และหน่วยงานบรรเทาทุกข์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการส่งกลับ

อาบุล กลาม คณะกรรมาธิการบรรเทาทุกข์และส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศของรัฐบาลบังกลาเทศ กล่าวว่า ครอบครัวดังกล่าวนั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีผู้ครอบครองระหว่างสองประเทศ ได้เดินทางกลับเข้าไปในเขตพรมแดนพม่าอีกครั้ง และถูกนำตัวไปยังศูนย์แรกรับที่ทางการพม่าตั้งขึ้น

“นี่ไม่ใช่การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ” อาบุล กลาม กล่าวกับรอยเตอร์

ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุในคำแถลงที่ออกเมื่อวันอาทิตย์ (15) ว่า หน่วยงานไม่ได้รับทราบโดยตรงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และไม่ได้ปรึกษาหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งกลับประเทศที่มีการรายงานนี้

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ” ครอบครัวดังกล่าวตัดสินใจที่จะเดินทางกลับด้วยความตั้งใจของตนเอง

“เรากำลังดูแลพวกเขา” ซอ เต กล่าว

รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อสอบถามครอบครัวดังกล่าวได้ หรือตรวจสอบสถานที่ที่พวกเขาเดินทางมาจากไหน

ในคำแถลงที่ออกเมื่อค่ำวันเสาร์ (14) พม่าระบุว่าได้ส่งกลับครอบครัวชาวโรฮิงญาครอบครัวแรกจากบรรดาผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไปบังกลาเทศโดยกลับไปยังหนึ่งในศูนย์แรกรับของทางการในรัฐยะไข่

พม่าและบังกลาเทศเห็นพ้องกันในเดือนมกราคม ที่จะดำเนินกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับโดยสมัครใจให้เสร็จสิ้นใน 2 ปี โดยพม่าตั้งศูนย์แรกรับ 2 แห่ง และสิ่งที่พม่าระบุว่าเป็นค่ายพักชั่วคราวตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนรัฐยะไข่ เพื่อรับผู้เดินทางกลับ

ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ มีชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คน อพยพไปบังกลาเทศจากรัฐยะไข่เพื่อหลบหนีการปราบปรามทางทหารที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางรายงานเกี่ยวกับการสังหาร ข่มขืน และวางเพลิง โดยกองกำลังทหารพม่าและกลุ่มม็อบชาวพุทธ ที่สหประชาชาติระบุว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์

คำกล่าวอ้างของพม่าเกี่ยวกับการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศครอบครัวแรกนั้นเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า สภาพการณ์ต่างๆ ในพม่ายังไม่พร้อมที่ผู้ลี้ภัยจะเดินทางกลับ

ในคำแถลงของ UNHCR เมื่อวันอาทิตย์ (15) เรียกร้องให้พม่ารับประกันว่าการเดินทางกลับใดๆ ก็ตาม ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีศักดิ์ศรี และปลอดภัย และผู้ลี้ภัยที่เดินทางกลับต้องกลับคืนสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

สำหรับคำแถลงของทางการพม่าที่เผยแพร่ในวันเสาร์ (14) ระบุว่า ครอบครัวผู้ลี้ภัย 5 คน ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและสาธารณสุข และกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์ และตั้งถิ่นฐานใหม่ ได้มอบสิ่งของต่างๆ เช่น ข้าว มุ้ง ผ้าห่ม และเครื่องครัว รวมทั้งบัตรประจำตัว NVC บัตรที่แกนนำชุมชนชาวโรฮิงญาปฏิเสธที่จะยอมรับ เนื่องจากขาดการระบุสถานะการเป็นพลเมืองของพม่า

ความคิดเห็น

comments