พม่าจัดการเองชาติเดียวไม่ได้ จวก UNHCR อย่าบีบให้พม่ารับโรฮิงญา

คณะผู้แทนของพม่าที่ร่วมหารือในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับวิกฤตผู้อพยพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันนี้ (29) ได้กล่าวตำหนิหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้พม่ายอมรับชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาเป็นพลเมืองเพื่อจัดการต่อการอพยพย้ายถิ่นของคนกลุ่มนี้จากชายฝั่งประเทศของพม่า

“ในประเด็นปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายของมนุษย์เรือนี้ คุณไม่สามารถเจาะจงมาที่ประเทศของเรา” ติน ลิน อธิบดีกระทรวงการต่างประเทศพม่า กล่าวตอบโต้ต่อคำร้องของ UNHCR ที่จะให้จัดการต่อต้นตอของวิกฤตการอพยพซึ่งรวมทั้งปัญหาการไร้รัฐ

ในการกล่าวต่อที่ประชุมที่ประกอบด้วยผู้แทน 17 ประเทศ และหน่วยงานต่างๆ โวลเคอร์ เติร์ก จาก UNHCR ได้เรียกร้องให้พม่าจัดการต่อการหลั่งไหลของผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่มุ่งลงใต้ และขึ้นฝั่งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยแล้วหลายพันคน

โวลเคอร์ เติร์ก กล่าวว่า ในการจัดการต่อต้นตอของปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนเป็นจำนวนมากนั้นต้องการความรับผิดชอบของพม่าต่อประชาชนทั้งหมดของตัวเอง และการมอบสิทธิพลเมืองเป็นเป้าหมายสูงสุด

พม่าปฏิเสธการให้สิทธิพลเมืองต่อชาวโรฮิงญา 1.3 ล้านคน และไม่ยอมรับคนเหล่านี้เป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อย่างเป็นทางการของประเทศ และเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เบงกาลี ที่หมายถึงชาวต่างชาติจากบังกลาเทศ

พม่าปฏิเสธที่จะให้ประเด็นสถานะของชนกลุ่มน้อยมุสลิมเป็นเรื่องระดับนานาชาติ นับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงในปี 2555 ระหว่างชาวโรฮิงญา และชาวพุทธในรัฐยะไข่

คณะผู้แทนของพม่าระบุว่า ความเห็นของโวลเคอร์นั้นเป็นการทำให้ประเด็นการอพยพเป็นเรื่องการเมือง และว่าประเด็นปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องภายใน

ทั้งนี้โดยหลักพื้นฐานในกฏหมายระหว่างประเทศ หากเด็กที่เกิดในแผ่นดินไทย ย่อมได้รับสัญชาติดังกล่าวโดยการเกิด แต่กรณีของชาวโรฮิงญา เด็กๆ ทั้งหมดเกิดในพม่าแต่กลับไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว

ขณะที่การประชุมที่กรุงเทพส่งผลให้ทั้ง 17 ประเทศที่ร่วมพูดคุย เห็นพ้องในถ้อยแถลงจัดมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพราว 2,500 คนที่เชื่อว่ายังล่องลอยอยู่กลางทะเล เช่นเดียวกับอีกประมาณ 3,500 คนที่ถูกช่วยเหลือขึ้นฝั่งไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา

แม้ ชาฮิดุ ฮาเก หัวหน้าคณะผู้แทนของบังกลาเทศ แสดงความยินดีต่อผลการประชุม โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “เรามีการปรึกษาหารือที่ก่อผลอย่างยิ่ง”

แต่ดูเหมือนคนอื่นๆไม่ได้แสดงออกถึงความประทับใจเช่นนั้น เช่นชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานรัฐสภาอาเซียนด้านสิทธิมนุษยชน และส.ส.มาเลเซีย บอกว่าที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงเนื้อหาที่ควรจริงจัง และไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเลย พร้อมประจานการประชุมว่าล้มเหลวในการพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับเหตุประหัตประหารชาวโรฮิงญา

ฟิล โรเบิร์ตสัน ตัวแทนขององค์กรฮิวแมนไรท์วอชต์เอเชีย ชี้ว่าการประชุมครั้งนี้เป็นแค่การเอาผ้าพันแผลปิดแผลที่เหวอะหวะ “ในคำแถลงไม่พาดพิงแม้ชื่อของโรฮีนจา คุณจะพูดถึงคนเหล่านี้ได้อย่างไรในขณะที่พวกคุณไม่เอ่ยชื่อพวกเขาด้วยซ้ำ”

ขณะที่พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวเปิดการประชุมโดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนสำหรับทุกประเทศในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง (ทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทาง) รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และนอกจากการให้ความสำคัญของการช่วยเหลือชีวิตของผู้ที่อยู่กลางทะเลแล้ว ยังต้องการความร่วมมือในการหยุดยั้งปัญหาที่ต้นเหตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต้นทาง และเน้นย้ำให้การประชุมครั้งนี้เป็นการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างมิตรประเทศ

การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติเป็นประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญตลอดมา และยังคงให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวต่อไปภายใต้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ  โดยปัจจุบันประเทศไทยดูแลผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจำนวนประมาณ 130,000 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเลจากบังกลาเทศและเมียนมาจำนวน 600 คน โดยรวมถึง 300 คนที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วจากปฏิบัติการล่าสุด โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศ ดังนี้

1.ปฏิบัติภารกิจพิเศษเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่ตกค้างอยู่กลางทะเล

2.ส่งเรือของกองทัพเรือ 2 ลำ เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการลอยน้ำ (Floating Platform) สำหรับการให้ความช่วยเหลือและการดูแลรักษาพยาบาลที่จำเป็นต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างรอการเดินทางผ่านต่อไป

3.จัดเครื่องบินของกองทัพเรือและกองทัพอากาศเพื่อบินลาดตระเวนเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางมนุษยธรรม

นอกจากนั้น รัฐบาลไทยจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกับ IOM และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในการเอื้ออำนวยความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ทั้งนี้การประชุมที่เกิดขึ้นมีผู้แทนระดับสูงจากประเทศที่ได้รับเชิญและประเทศผู้สังเกตการณ์ได้แก่ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสิ้น 74 คน รวมทั้งมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ 3 องค์กร คือ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และผู้แทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตและผู้แทนระดับอุปทูตในประเทศไทยกว่า 40 ประเทศได้เข้าร่วมสังเกตการณ์

i-News Daily 58-05-30-317m

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น