UN วิตกเลือกตั้งพม่าอ้างเป็นธรรมแต่ประชาชนหลายแสนถูกตัดสิทธิ

ผู้สืบสวนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติแสดงความวิตกเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพม่าในเดือนหน้าว่าสามารถพิจารณาว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้หรือไม่เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายสิบคนถูกตัดสิทธิและประชาชนอีกหลายแสนคนถูกปฏิเสธสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ระบุว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมและสมาคม รวมทั้งการจับกุมและการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วงทำให้การเลือกตั้งอยู่ในความเสี่ยง

ลี ระบุในรายงานที่เสนอต่อคณะกรรมการสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันพุธ (28 ตุลาคม) ว่า”ความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งจะถูกตัดสินจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาดำเนินการและขอบเขตของการมีส่วนร่วมอย่างเสรีในทุกภาคส่วนของสังคมพม่าในกระบวนการทางการเมือง”

การเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน ของพม่าอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมครั้งแรกในรอบ 25 ปี และเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะพิจารณาตัดสินความคืบหน้าของการปฏิรูปประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน

ในขณะที่ ลี ยอมรับว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่าสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนมีการพัฒนาอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ยังคงมีความท้าทายด้านสิทธิอยู่ อย่างต่อเนื่อง ที่รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการข่มขู่คุกคามและการตรวจสอบผู้ปกป้องสิทธิ

อู กอ ติน ทูตพม่าประจำสหประชาชาติปฏิเสธรายงานของลีว่ามีความไม่ถูกต้องและบิดเบือนให้เข้าใจผิด

เขากล่าวว่า “การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ไม่ควรตัดสินล่วงหน้าด้วยความท้าทายเล็กน้อย พม่ากำลังดำเนินการอย่างดีที่สุดด้วยความมุ่งทั่นอย่างเต็มที่เพื่อให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม และโปร่งใส”

ลี กล่าวว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 60 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ถูกตัดสิทธิจากการร่วมลงเลือกตั้ง ขณะที่แรงงานต่างด้าว ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ผู้ลี้ภัย และพลเมืองพม่าที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ไม่สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ พร้อมกับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

และสิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดคือการไม่มีส่วนร่วมของประชาชนกว่า 760,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีบัตรประจำตัวชั่วคราวและมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 2553 และการเลือกตั้งปี 2555

ผู้คนหลายร้อยคนเสียชีวิตในการปะทะกันระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธยะไข่ในปี 2555 ชาวโรฮิงญาประมาณ 140,000 คน ต้องอาศัยอยู่ในค่ายชั่วคราว ขณะที่อีกหลายพันคนหลบหนีทางเรือ จนนำไปสู่วิกฤตผู้อพยพในภูมิภาค

ความคิดเห็น

comments