พม่าอพยพยะไข่หนีเหตุปะทะ โรฮิงญาถูกยิงไล่หนีไปบังกลาเทศ ตายพุ่ง 98

รัฐบาลพม่าได้อพยพชาวบ้านที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม(ชาวพุทธ และฮินดู)อย่างน้อย 4,000 คน ออกจากพื้นที่ปะทะในรัฐยะไข่ ขณะที่ชาวโรฮิงญาหลายพันคนหนีตายไปฝั่งบังกลาเทศโดยที่ทหารพม่ายิงปืน ค. และปืนกลถล่มหมู่บ้านของพวกเขา ขณะที่ความรุนแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องยอดตายพุ่ง 98 คน

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในวันศุกร์ (25) จากสิ่งที่ทางการพม่าระบุว่าเป็นการโจมตีของผู้ก่อการร้ายทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 98 ศพ เป็นเจ้าหน้าที่กองกำลังพม่า 12 คน ส่วนที่เหลือเป็นฝ่ายตรงข้ามตามการระบุของรัฐบาลพม่า นับเป็นความรุนแรงครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่คณะกรรมการของโคฟี อันนันได้ส่งรายงานสรุปการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาในยะไข่ให้กับรัฐบาลพม่า

ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ เมื่อวันเสาร์ (26) จุดปะทะรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่บริเวณชานเมืองหม่องโดว

การโจมตีที่เกิดขึ้นยกระดับความขัดแย้งที่คุกรุ่นล่าสุดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม หลังจากชาวโรฮิงญากว่า 700 คน ถูกปิดล้อมไม่ให้ออกนอกพื้นที่ไปทำงาน และไปซื้อหาอาหาร

เมื่อวันศุกร์ที่(25)ผ่านมา นางอองซานซูจี ได้แสดงความเห็นกล่าวประณามการบุกโจมตีสถานีตำรวจ 30 แห่ง และค่ายทหารอีก 1 แห่ง โดยผู้ก่อเหตุมีเพียงปืน ไม้ และระเบิดที่ทำขึ้นเองเป็นอาวุธ

วิน มัต เอ รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์ และการตั้งถิ่นฐานใหม่ของพม่า กล่าวต่อรอยเตอร์เมื่อค่ำวันเสาร์ (26) ว่า ชาวบ้านที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมราว 4,000 คน ได้อพยพออกจากพื้นที่ และกระทรวงกำลังจัดสถานที่ต่างๆ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ทั้งวัด สำนักงานราชการ และสถานีตำรวจ ตามเมืองใหญ่

“เรากำลังจัดหาอาหารให้แก่ประชาชนที่ให้ความร่วมมือต่อรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น” วิน มัต เอ กล่าว แต่ไม่ได้ระบุถึงแผนของรัฐบาลในการช่วยเหลือพลเรือนชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ติดอยู่ในพื้นที่ปะทะเช่นกัน

“มันเป็นเรื่องยากที่จะพูด นี่เป็นสถานการณ์ความขัดแย้ง ดังนั้น มันยากมากที่จะบอกว่าใครผิดใครถูก” วิน มัต เอ กล่าว

ชาวเมืองยะไข่ ที่อาศัยในเมืองที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติ หรือเมืองที่ไม่มีชาวมุสลิมต่างเตรียมอาวุธเพื่อป้องกันตัวเอง และมีหลายคนที่ติดค้างอยู่ในหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ขณะที่การปะทะยังคงดำเนินอยู่ และถนนบางสายถูกวางระเบิด

“เมื่อวานนี้มีการปะทะกันตลอดทั้งวันบนถนนสายหลัก มันเต็มไปด้วยระเบิด ผมไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะมีอาหารเพียงพอให้แก่เราทุกคน ส่วนราคาสินค้าก็พุ่งขึ้นทุกวัน” นักข่าวท้องถิ่นจากเมืองหม่องโดว ระบุ

สถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นี้ ทำให้ชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กพยายามที่จะข้ามแม่น้ำนาฟ ที่คั่นกลางระหว่างพม่า และบังกลาเทศไปอีกฝั่งหนึ่ง และตั้งแต่วันศุกร์ (25) เป็นต้นมา มีผู้อพยพราว 2,000 คน ที่สามารถข้ามเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศได้ ตามการประเมินของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในค่ายพักชั่วคราวบนฝั่งเขตแดนของบังกลาเทศ

ขณะที่ตำรวจบังกลาเทศได้วางกำลังสกัดชาวโรฮิงญาในค่ำวันเสาร์ (26) ที่หนีเข้ามาในพื้นที่ ขณะที่ทางการพม่ายิงปืน ค. และปืนกลเข้าใส่ไล่หลังพวกเขา

ชาวบ้านถูกจับกุมตัวได้ภายในเขตแดนของบังกลาเทศห่างจากชายแดนราว 4 กิโลเมตร ที่กำลังมุ่งหน้าไปยังค่ายผู้ลี้ภัย ที่มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ตามการระบุของหัวหน้าตำรวจท้องถิ่นบังกลาเทศ

“ทั้ง 70 คน ถูกควบคุมตัวและถูกผลักดันกลับพม่าโดยเจ้าหน้าที่รักษาชายแดน” เจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าว

ตำรวจระบุว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวบางส่วนเข้ามาในบังกลาเทศผ่านบริเวณชายแดนที่กองกำลังพม่าเพิ่งระดมยิงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า

“พวกเขาอ้อนวอนขอให้เราไม่ส่งตัวพวกเขากลับไปพม่า” เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งระบุ

โรฮิงญาอีก 20 คน ถูกจับได้ในวันอาทิตย์ (27) และส่งกลับหลังข้ามแม่น้ำนาฟ ที่เป็นพรมแดนโดยธรรมชาติระหว่างพม่าและบังกลาเทศ ตามการระบุของผู้บัญชาการหน่วยรักษาชายแดน

โดยเจ้าหน้าที่บังกลาเทศปฏิเสธที่จะปล่อยให้ชาวโรฮิงญาเข้าไปเขตแดน ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กติดค้างตามพื้นที่รอยต่อชายแดน

รัฐบาลบังกลาเทศได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเมืองคอกซ์บาซาร์ ที่มีพรมแดนติดพม่าและเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ ไม่ปล่อยให้ผู้อพยพโรฮิงญาเหล่านี้เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ด้วยเวลานี้ บังกลาเทศมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 400,000 คน

ถึงแม้มีมาตรการที่เข้มงวดแต่แกนนำชุมชนโรฮิงญา ยังได้เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่น และนักข่าวของ AFP ว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 3,000 คน ที่สามารถเดินทางเข้ามาในบังกลาเทศได้ และพบว่าชาวโรฮิงญาลี้ภัยอยู่ตามค่ายและหมู่บ้านต่างๆ ตั้งแต่วันศุกร์

โดยการความรุนแรงล่าสุดเกิดขึ้นในหนึ่งวันหลังจากที่คณะกรรมการที่ปรึกษาซึ่งนำโดยนายโคฟีอันอันนันอดีตเลขาธิการสหประชาชาติได้ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลของนางอองซานซูจีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในระยะยาวสำหรับการแบ่งแยกเชื้อชาติ และศาสนาที่ทวีความรุนแรงขึ้นของรัฐยะไข่

ในรายงานชิ้นสุดท้ายคณะกรรมาธิการแนะนำให้กองทัพพม่าพิจารณาข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับการเร่งโครงการตรวจสอบสัญชาติชาวโรฮิงญา

อันนันได้แถลงการณ์ประณามการโจมตีเมื่อวันศุกร์ที่ระบุว่า “กังวลถึงการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น” และกระตุ้นให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยใช้ความยับยั้งชั่งใจในการรับมือกับสถานการณ์

ผู้ประสานงานประจำถิ่นขององค์การสหประชาชาติในประเทศพม่า Renata Lok-Dessallien ยังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ประณามการโจมตี และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระงับความรุนแรง และแก้ปัญหาด้วยการเจรจา

นอกจากนี้ความรุนแรงล่าสุดยังเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากสภาพม่าที่ครองเสียงส่วนใหญ่โดยพรรค NLD ไม่ยอมผ่านกฎหมายกระชับอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ในการจัดการปัญหาโรฮิงญาตามข้อเสนอของ พรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) ที่มีนโยบายต่อต้านชาวโรฮิงญา โดย U Maung Ohn นักการเมืองยะไข่จากพรรค ANP กล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความห่วงใยต่อชาวยะไข่เท่านั้น แต่สมาชิกรัฐสภาทุกคนควรพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับชาติ” และยังกล่าวกับสำนักข่าวอิรวดีอีกว่านักการเมืองหลายคนจากพรรคสันนิบาตชาติประชาธิปไตย NLD ไม่เคยไปเยือนพื้นที่ความขัดแย้ง ในภาคเหนือ ของรัฐยะไข่

https://www.youtube.com/watch?v=rcwG4udVthQ

https://www.youtube.com/watch?v=VkqsXg9buxM

ความคิดเห็น

comments