พม่าอ้างคำแถลง UN ทำคุยกับบังกลาเทศไม่รู้เรื่อง

พม่าอ้างว่าคำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเกี่ยวกับวิกฤติผู้ลี้ภัยโรฮิงญาอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการเจรจาหารือกับบังกลาเทศในเรื่องการส่งตัวผู้ลี้ภัยโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน กลับพม่า ขณะที่ก่อนหน้านี้ โฆษกซูจีออกมากล่าวหาบังกลาเทศกักตัวชาวโรฮิงญาไม่ยอมส่งกลับพม่าเพื่อหวังเงินช่วยเหลือต่างประเทศ ทำให้บังกลาเทศไม่พอใจอย่างมาก

คณะมนตรีความมั่นคงได้ออกคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (6) เรียกร้องพม่าให้รับประกันที่จะไม่มีการใช้กำลังทหารเกินกว่าเหตุ และแสดงความรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากต่อรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่

นางอองซานซูจี ผู้นำพม่าได้ตอบโต้คำแถลง UN ว่าปัญหาต่างๆ ที่พม่าและบังกลาเทศกำลังเผชิญอยู่สามารถแก้ไขได้ระหว่างกัน

“นอกจากนั้น คำแถลงดังกล่าวอาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อการเจรจาทวิภาคีระหว่างสองประเทศที่กำลังดำเนินการอย่างราบรื่นและรวดเร็ว” สำนักงานของนางอองซานซูจี ระบุ

ทางการพม่าระบุว่าการเจรจาหารือกับบังกลาเทศอยู่ระหว่างดำเนินการ และยังได้เชิญรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศบังกลาเทศเยือนพม่าระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้

แต่อย่างไรก็ตาม มีความไม่พอใจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการหารือเมื่อสัปดาห์ก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่บังกลาเทศไม่พอใจที่โฆษกของอองซานซูจีแสดงความกังขากล่าวหาว่าบังกลาเทศเตะถ่วงการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับพม่า เพื่อรอรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์

ในที่ประชุมในกรุงธากาเมื่อวันอาทิตย์ (4) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เรียกร้องให้ต่างชาติกดดันพม่าให้มากยิ่งขึ้น เพื่อยุติการประหัตประหารประชาชนและให้พม่ารับผู้ลี้ภัยกลับไปโดยเร็วที่สุด

เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนพม่าในวันที่ 15 พฤศจิกายน พร้อมกับความเคลื่อนไหวในสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้กำหนดมาตรการลงโทษกับพม่าโดยมุ่งเป้าไปที่ทหารและผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ในคำแถลงของพม่ายังได้กล่าวยกย่องกับท่าทีของสมาชิกบางส่วนในคณะมนตรีความมั่นคงที่ยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอธิปไตย ซึ่งก่อนหน้านี้พม่าเคยเปิดเผยว่าได้ขอให้จีน และรัสเซีย ช่วยยับยั้งมติต่างๆ ที่เกี่ยวกับพม่าของสหประชาชาติ

สหประชาชาติได้กล่าวประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเป็นตัวอย่างของการกวาดล้างชาติพันธุ์เพื่อขับไล่มุสลิมโรฮิงญาออกจากพม่า

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญากล่าวว่าทหารเป็นผู้เผาหมู่บ้าน แต่ทหารกล่าวว่า ผู้วางเพลิงคือผู้ก่อการร้ายโรฮิงญา

และผู้ลี้ภัยยังอ้างว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงเป็นผู้ก่อเหตุสังหารและข่มขืน ซึ่งทางการพม่าระบุว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้จะดำเนินการสืบสวน

การอพยพของชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ชาวโรฮิงญาหลายพันคนเดินทางถึงบังกลาเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเมื่อวันอังคาร (7) เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนบังกลาเทศกล่าวกับรอยเตอร์ว่า มีเรืออย่างน้อย 2 ลำมาถึงฝั่งเมืองคอกซ์บาซาร์ พร้อมชาวโรฮิงญา 68 คน ซึ่งมารวมกับชาวโรฮิงญาหลายแสนคนที่พักอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยของเมืองก่อนหน้านี้

เมื่อสัปดาห์ก่อน ซูจีเดินทางไปเยือนรัฐยะไข่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัย และได้พบหารือกับแกนนำชุมชน และแสดงความมุ่งมั่นที่นำรัฐยะไข่กลับคือสู่ภาวะปกติ

ขณะเดียวกัน ยังได้กล่าวถึงแผนที่จะเปิดศูนย์ดำเนินการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ซึ่งผู้ลี้ภัยจะต้องพิสูจน์ว่าเคยอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับ

ความคิดเห็น

comments