สหรัฐฯ-ฝรั่งเศส เห็นพ้องคุมเข้มข้อตกลงนิวเคลียร์สกัดภัยคุกคามจากอิหร่าน

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เห็นพ้องในวันอังคาร(24 เมษายน) ในมาตรการควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านที่เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม ขณะที่ ทรัมป์ขู่จะตอบโต้หากอิหร่านรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์อีกครั้ง

ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับผู้นำฝรั่งเศส ทรัมป์ ได้วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงที่อิหร่านทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจทั้ง 6 ซึ่งทรัมป์ระบุว่าไม่สามารถยับยั้งการแผ่อิทธิพลในตะวันออกกลาง หรือโครงการขีปนาวุธของอิหร่านได้

“มันคือข้อตกลงแย่ๆ ที่มีพื้นฐานง่อนแง่น… และมีแต่จะพัง” ทรัมป์ กล่าว

ผู้นำสหรัฐฯ จะต้องตัดสินใจภายในวันที่ 12 พฤษภาคม ว่าจะฟื้นมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งหรือไม่

มาครง ระบุว่า ตนได้คุยกับ ทรัมป์ เกี่ยวกับ “ข้อตกลงใหม่” ซึ่งสหรัฐฯ และยุโรปจะร่วมกันแก้ไขข้อกังวลต่างๆ เกี่ยวกับอิหร่านที่นอกเหนือไปจากโครงการนิวเคลียร์

ผู้นำฝรั่งเศสซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 วัน โดยยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯ และยุโรปปิดกั้นกิจกรรมนิวเคลียร์อิหร่านทุกรูปแบบจนกระทั่งถึงปี 2025 และหลังจากนั้น รวมไปถึงควบคุมโครงการพัฒนาขีปนาวุธ และสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่กลไกการเมืองที่จะยับยั้งอิทธิพลของอิหร่านในเยเมน ซีเรีย อิรัก และเลบานอน

“ถ้าอิหร่านข่มขู่เราด้วยวิธีการใดก็ตาม พวกเขาจะต้องจ่ายมันด้วยราคาแพงชนิดที่แทบไม่มีประเทศใดเคยจ่ายมาก่อน” ทรัมป์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสคนหนึ่งระบุว่า “สิ่งที่สำคัญและเป็นเรื่องใหม่สำหรับเช้าวันนี้ก็คือ ประธานาธิบดี ทรัมป์ เห็นด้วยกับแนวคิดในการทำข้อตกลงใหม่ ซึ่งควรถูกเสนอและดำเนินการร่วมกับฝ่ายอิหร่าน”

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า จีน และรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่าน จะเห็นด้วยกับมาตรการควบคุมอิหร่านที่ครอบคลุมกว่าเดิมหรือไม่

แหล่งข่าวซึ่งทราบเรื่องการเจรจาภายในทำเนียบขาว ระบุว่า ทรัมป์ กับ มาครง ได้พูดคุยถึงการให้เวลายุโรปปรับปรุงเงื่อนไขข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่านฉบับเดิมให้เข้มงวดรัดกุมยิ่งขึ้น

รัฐบาลอิหร่านประกาศจะฟื้นโครงการนิวเคลียร์ทันทีหากข้อตกลงปี 2015 ล่มสลาย ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสอิหร่านคนหนึ่งออกมาขู่เมื่อวันอังคาร (24) ว่า อิหร่านอาจตัดสินใจถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty – NPT) หาก ทรัมป์ เป็นฝ่ายฉีกข้อตกลงก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่าง ทรัมป์ และ มาครง ค่อนข้างอบอุ่นเมื่อเทียบกับผู้นำยุโรปอีกหลายประเทศซึ่งทั้งสองยังได้พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในซีเรีย หลังจากที่สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสได้ลงมือโจมตีทางอากาศถล่มศูนย์วิจัยและคลังแสงเคมีของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เมื่อวันที่ 13 เมษายน เพื่อตอบโต้การที่บาชาร์ อัล-อัสซาดใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าพลเรือน

ทรัมป์ ต้องการถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากซีเรีย และเชื่อว่ากลุ่มดาอิช ส่วนใหญ่พ่ายแพ้ไปหมดแล้ว ทว่า มาครง กับชาติพันธมิตรอื่นๆ แย้งว่ายังสมควรคงทหารเอาไว้อีกสักระยะเพื่อให้มั่นใจว่านักรบเหล่านั้นจะไม่ฟื้นคืนชีพ และป้องปรามการแผ่อิทธิพลของอิหร่านไปด้วยในตัว

ภายใต้ข้อตกลงนี้ อิหร่านยอมที่จะควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของตน เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตร และเปิดความสัมพันธ์ทางการค้าในทุกๆ ด้านกับอิหร่าน แต่อิหร่านกลับยังคงมีการทดลองขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ทั้งที่ขัดต่อข้อตกลงดังกล่าวโดยที่มหาอำนาจไม่ได้มีมาตรการลงโทษใดๆ นอกจากสหรัฐที่มีการลงโทษจากจำกัดต่อบุคคลเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ขณะที่สหรัฐก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ในการซื้อน้ำมวลหนักที่เป็นผลผลิตจากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2016 บัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น กล่าวในรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงว่า “แม้ว่ามันจะเป็นหน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงในการตีความมติของพวกเขาเอง แต่ผมเป็นกังวลว่า การยิงขีปนาวุธเหล่านั้น จะไม่ได้สอดคล้องกับเจตนารมณ์อันดีที่ถูกแสดงให้เห็นด้วยการลงนาม”

พร้อมระบุว่า “ผมเป็นกังวลกับการยิงขีปนาวุธของอิหร่านเมื่อเดือนมีนาคมปี 2016”

“ผมเรียกร้องให้อิหร่านงดเว้นจากการยิงขีปนาวุธเช่นนี้ เนื่องจากมันอาจเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาค” บัน ระบุ

นี่เป็นรายงานฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับการใช้มติที่ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วย เงื่อนไขต่าง ๆ ของข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2015 ด้วยมตินี้อิหร่าน “ถูกเรียกร้องให้งดการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธที่ถูกออกแบบให้สามารถติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ได้ รวมถึงการยิงที่ใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธลักษณะนี้”

แม้ชาติต่างๆ จะเห็นพ้องกันว่าโครงการขีปนาวุธของอิหร่านเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อมติของสหประชาชาติ และข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ต่ออิหร่านแต่อย่างใด ขณะที่ สหรัฐ, ฝรั่งเศส และอังกฤษ เป็น 3 ใน 5 ของคณะมนตรีความมั่นคง และต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของอิหร่านในปัจจุบัน ขณะที่ จีน และรัสเซีย ซึ่งเป็นอีก 2 ชาติในคณะมนตรีความมั่นคง เป็นพันธมิตรที่เหนี่ยวแน่น และเป็นคู่ค้าสำคัญของอิหร่านเช่นกัน

ความคิดเห็น

comments