แกนนำชาวอุยกูร์ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ พร้อมผู้สนับสนุน ได้มารวมตัวกันที่ญี่ปุ่นเพื่อเผชิญหน้ากับประธานาธิบดีสี จิน ผิง ของจีน ที่เดินทางมาร่วมประชุม G20 ต่อกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ของจีน
อาหรับนิวส์รายงานว่า Rebiya Kadeer กล่าวกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการประชุม G20 ที่โอซาก้าว่าแรงกดดันของโลกที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประชากรประมาณหนึ่งล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์ที่ถูกกักขังอยู่ในค่ายกักกันทางตะวันตกของจีนได้รับอิสระภาพ
“คนอุยกูร์ทั้งหมดกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่มีอยู่จริง และต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนจริง ๆ” Kadeer หัวหน้าสภาอุยกูร์วัย 72 ปีกล่าวผ่านล่าม
เจ้าหน้าที่จีนอ้างว่าค่ายดังกล่าวเป็น “ศูนย์ฝึกอาชีพ” โดยสมัครใจซึ่งชาวอุยกูร์ที่พูดภาษาเติกจะได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ
แต่กลุ่มสิทธิ และอดีตผู้ถูกกักขังกล่าวว่า “ค่ายกักกัน” ที่ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ถูกนำตัวไปกักขัง สำหรับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมือนกับสังคมชาวฮั่น ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของจีน
Kadeer กล่าวว่าวัฒนธรรมอุยกูร์อาจหายไปหาก “ชาติคู่ค้าที่แข็งแกร่ง” ของจีนไม่ช่วย
“ฉันเรียกร้อง (ต่อ) ประเทศในยุโรปที่จีนพึ่งพาทางเศรษฐกิจลุกขึ้นมาและยืนหยัดต่อสู้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ของจีน และดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติทันที”
โดยมีผู้ชุมนุมมากกว่า 100 คนมารวมตัวกันที่โอซาก้าเพื่อประท้วงค่ายกักกันดังกล่าว รวมทั้งนักเคลื่อนไหวในฮ่องกง ซึ่งส่งผลในการลดทอนเสรีภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองจีน
การปรากฏตัวของ Kadeer ในโอซาก้าสร้างความไม่พอในให้กับจีนอย่างมาก เนื่องจากหญิงชราวัย 72 ปีรายนี้ ถูกจีนกล่าวหาว่าเป็นแกนนำกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และจีนเคยประณามญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ที่อนุญาตให้เธอเข้าประเทศ
Kadeer กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ซึ่งเป็นเจ้าภาพของการประชุมสุดยอด G20 ที่ดำเนินการโดยไม่สนต่อแรงกดดันของจีน
เขตปกครองตนเองซินเจียงเป็นพื้นที่ห่างไกลที่เต็มไปด้วยทรัพยากรที่มีพรมแดนติดกับเอเชียกลางที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีชาวอุยกูร์ถูกปราบปรามจากทางการจีน
Kadeer เป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จของซินเจียงที่ได้รับการยกย่องจากจีนในช่วงปี 1990 ซึ่งจีนใช้เป็นข้ออ้างว่านโยบายของจีนเป็นประโยชน์สำหรับชนกลุ่มน้อยหลายเชื้อชาติของประเทศ
แต่เธอกลับถูกทางการจีนจับขังคุกเป็นเวลา 6 ปี หลังเธอแสดงออกอย่างไม่พอใจจากการกดขี่ชาวอุยกูร์ของทางการจีน
เธอได้รับการปล่อยตัวและเดินทางไปต่างประเทศในปี 2005 และตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นผู้นำของสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ซึ่งสนับสนุนการเคารพวัฒนธรรมอุยกูร์
จีนกล่าวหาว่าเธออยู่เบื้องหลังการก่อจลาจลของชาวอุยกูร์ในปี 2009 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 197 คนตามข้อมูลของทางการจีน แต่เธอปฎิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว