การทิ้งระเบิดของกองกำลังติดอาวุธในระบอบบาชาร์ อัล-อัสซาดทำให้พลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 14 รายรวมถึงเด็ก 7 คนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย กลุ่มสังเกตการณ์สงคราม ระบุวันเสาร์ (6 กรกฎาคม) ในการโจมตีใหญ่ครั้งล่าสุดบนพื้นที่ปลอดภัยภายใต้ข้อตกลงร่วมของ รัสเซีย ตุรกี และอิหร่าน
เมื่อค่ำวันศุกร์ (5) เครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ทำการโจมตีทางอากาศใส่หมู่บ้าน มัมเบลในจังหวัดอิดลิบ ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 13 รายรวมถึงเด็ก 6 คน กลุ่มสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรีย ระบุ
ยังมีผู้หญิงคนหนึ่งถูกสังหารเมื่อเช้าวันเสาร์ (6) ด้วยจากการยิงขีปนาวุธของฝ่ายรัฐบาลบริเวณแถบชานมืองข่านเชคคุน ในตอนใต้ของจังหวัดที่เคยถูกโจมตีด้วยอาวุธเคมีมาแล้วก่อนหน้านี้ ตามรายงานของกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย
อิดลิบ เป็นจังหวัดที่มีประชากรชาวซีเรียราว 3 ล้านคน หลายคนหลบหนีมาจากพื้นที่ที่ถูกกองกำลังอัสซาดยึดครองไป และเป็นที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายต่อต้านซีเรีย และตั้งอยู่ภายใต้ข้อตกลงเขตปลอดภัย โดยมีรัสเซีย ตุรกี เป็นผู้รับประกัน
พื้นที่ติดชายแดนตุรกีแห่งนี้เป็นที่หลบภัยด้านมนุษยธรรม เป็นพื้นที่ลี้ภัยผู้พลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในซีเรีย
อิดลิบได้รับการปกป้องจากการโจมตีของกองกำลังอัสซาดภายใต้ข้อตกลงเมื่อเดือนกันยายนระหว่างรัสเซีย และตุรกี แต่สุดท้ายอัสซาด และรัสเซีย ได้ฉีกข้อตกลงดังกล่าวพร้อมยกระดับการทิ้งระเบิดในพื้นที่พลเรือนแห่งนี้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยที่ตุรกีไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะช่วยเหลือชาวซีเรียที่ถูกโจมตีรอบใหม่
พลเรือนกว่า 520 คนถูกสังหารนับตั้งแต่นั้น ตามรายงานของกลุ่มสังเกตการณ์ฯ
องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า สถานพยาบาล 25 แห่งในจังหวัดนี้ถูกโจมตี ล่าสุดคือการโจมตีโรงพยาบาลใต้ดินแห่งหนึ่งในเมืองคาฟรานเบลเมื่อวันพฤหัสบดี (6) และเป็นครั้งที่สองในรอบ 2 เดือน
“การโจมตีดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีการแชร์พิกัดของโรงพยาบาลแห่งนี้ให้กับกลุ่มต่างๆ ในความขัดแย้งนี้ล่วงหน้าแล้ว ในความพยายามอย่างตั้งใจ และรอบคอบเพื่อไม่ให้มันถูกโจมตี” เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันศุกร์ (5) แต่สุดท้ายการระบุตำแหน่งที่ชัดเจนของโรงพยาบาล กลับกลายเป็นการชี้เป้าให้ถูกโจมตีง่ายขึ้น
“ผมรู้สึกหวาดกลัวกับการโจมตีพื้นที่พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนต่อไปเช่นนี้ ในขณะที่ความขัดแย้งในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียยังดำเนินต่อไป” มาร์ก คัตส์ รองผู้ประสานงานมนุษยธรรมด้านวิกฤตซีเรียของยูเอ็น กล่าว
สงครามซีเรียคร่าชีวิตคนไปแล้วหลายแสนคน และทำให้มีผู้พลัดถิ่นหลายล้านคน นับตั้งแต่มันเริ่มต้นในปี 2011 จากความรุนแรงที่ก่อขึ้นโดยระบอบอัสซาด ที่มีอิหร่าน และรัสเซียให้การหนุนหลัง